รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอินเดียได้เล็งเห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนในแถบอาเซียนโดยล่าสุดการประชุม Delhi Dialogue VII ที่ผ่านมามีการเปิดประเด็นในหลายด้านทั้งด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร เทคโนโลยีเกษตรกรรม และวิศวกรรมอาหาร โดยมีการหยิบยกประเด็นจากการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียนในช่วงปี 2555 เกี่ยวกับหลักประกันในความมั่นคงทางด้านอาหารในแถบภูมิภาคและพยายามสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งทางด้านภาคเกษตรกรรมระหว่างประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนและอินเดีย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในแถบอาเซียนมีอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นหลัก หลายประเทศในอาเซียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุดในระดับสากล อาทิ ข้าว ผลไม้ ผัก และกาแฟ รวมทั้งยังเป็นผู้นำทางด้านพืชอุตสาหกรรม อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยาง ถั่วและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย ดังนั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้จากการค้าและการลงทุน ส่วนใหญ่จึงมาจากภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก
ในปัจจุบันอาเซียนและอินเดียต้องเผชิญกับความท้าทายทางด้านเกษตรกรรม เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด อาทิ จำนวนพื้นที่เพาะปลูก น้ำและพลังงาน ภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความต้องการของตลาดโลก อินเดียจึงเร่งดำเนินการเจรจาความร่วมมือและสร้างความตระหนักทั้งด้านเกษตรกรรมและความมั่นคงด้านอาหารซึ่งประเด็นสำคัญตามแผนพัฒนาของอาเซียน โดยมีประเด็นดังนี้
1. ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการโดยที่ประชาชนสามารถซื้อสินค้าเกษตรได้ในราคาที่เป็นธรรม พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
2. ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตรกรรมและเกษตรกร โดยเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งให้โอกาสกลุ่มเกษตรกรในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติทางด้านเกษตรและการจัดการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเชี่ยวชาญระหว่างกัน
3. หน่วยงานภาครัฐต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างหลักประกันในความมั่นคงด้านอาหารและกระตุ้นการเข้าถึงตลาดให้สะดวกขึ้นรวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งถือเป็นพื้นฐานการผลิตของเกษตรกร
ที่มา: The Crop site สรุปโดย: มกอช.