TH EN
A A A

UK แนะผลิตหญ้าหมักให้ปลอดภัยจากสารพิษเชื้อรา

20 March 2558   

               ผู้ประกอบการในสหราชอาณาจักร แนะนำผู้ผลิตปรับวิธีการทำหญ้าหมัก (Silage) สำหรับให้ปศุสัตว์บริโภคโดยเฉพาะฟาร์มโคนมซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องควบคุมเพื่อให้ได้คุณภาพและลดการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ดังต่อไปนี้
     1. การทำหญ้าหมักในส่วนขั้นตอนการกอง ควรจัดให้มีความหนาแน่นของกองหญ้าหมักที่เหมาะสม เนื่องจากจะช่วยป้องกันอากาศและความชื้นเข้ามากเกินไป ช่วยลดความเสี่ยงจากการสะสมสารพิษที่เกิดจากเชื้อรารวมทั้งลดการสูญเสียของธาตุอาหาร
     2. ควรกองหญ้าหมักเพิ่มขึ้นในแต่ละชั้นไม่เกิน 15 เซนติเมตร และอัดกองให้แน่นให้ได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 750 กิโลกรัม/1 ลูกบาศก์เมตร (โดยทั่วไปเกษตรกรทำได้ประมาณต่ำกว่า 650 กิโลกรัม/1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสาเหตุให้อากาศและออกซิเจนสามารถซึมผ่านเข้าไปในหญ้าหมักได้ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อรา)
     3. เติมสารช่วยในการหมักในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กรดต่างๆ หัวเชื้อ หรือใช้เกลือเพียงอย่างเดียวเพื่อลดการเน่าเสีย โดยค่อยๆผสมเป็นชั้นๆสลับกับหญ้าจนเต็ม
                ทั้งนี้สารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ที่พบการปนเปื้อนหญ้าหมัก มักพบว่าเกิดขึ้นในสถานที่มีการสะสมความชื้นและปล่อยให้อากาศเข้ามากเกินไป และพบได้หลายชนิด เช่น Aflatoxin Ochratoxins Zearalenone Fumonisins และTrichothecenes ขึ้นอยู่กับเชื้อราที่เจริญเติบโต
                การได้รับสารพิษจากเชื้อราทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เรียกว่า Mycotoxicosis ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารนั้นๆ ปริมาณที่ได้รับ อายุและเพศ รวมถึงสายพันธุ์ เชื้อราที่สร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ส่วนมากเป็นเชื้อราในสกุล Genus Aspergillus, Penicillim และ Fusarium สารพิษส่วนใหญ่สามารถกระตุ้นให้เกิดการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม (Mutagenic effects) และทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง (Carcinogenic effect)
  

ที่มา: All About Feed สรุปโดย: มกอช.

 

 

Is this article useful?