จากที่กฎระเบียบ Regulation (EC) No 669/2009 กำหนดมาตรการสุ่มตรวจเข้มพืชกลุ่มเสี่ยงของประเทศที่สามที่ส่งไป จำหน่ายยังสหภาพยุโรป โดยให้มีผลปรับใช้มาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 แล้วนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) No 1021/2014 สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ยังคงเป็นมาตรการเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่แตกต่างจากการ Review ครั้งที่ผ่านมา โดยสรุปภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยได้ดังนี้
1. สุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในผัก 2 ประเภท คือ ผักในกลุ่มมะเขือ และถั่วฝักยาวทั้งในรูปของผักสด แช่เย็น และแช่แข็ง ที่ระดับ 20%
2. สุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในผัก 2 ประเภท คือ ผักชี และกะเพรา-โหระพาในรูปของผักสดและแช่เย็นที่ระดับ 10%
3. สุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) ในผัก 3 ประเภท คือ ผักชี กะเพรา-โหระพา และสะระแหน่ในรูปของผักสดและแช่เย็นที่ระดับ 10%
4. สุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในพริก ในรูปของพริกสดและแช่เย็น ที่ระดับ 10%
5. สุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลลาในใบพลู (Betel leaves, Piper betle L.) ที่ระดับ 10%
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ จากการ Review ครั้งนี้ พบว่า
1. EU เพิ่มการสุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างที่ระดับ 50% ในมะเขือ ขึ้นฉ่ายจีนและถั่วฝักยาวจากประเทศกัมพูชา
2. เพิ่มการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลลาที่ระดับ 20% ในเมล็ดงาจากอินเดีย
3. เพิ่มการสุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างที่ระดับ 20% ในแก้วมังกรจากเวียดนาม
4. ให้ยกเลิกการสุ่มตรวจเชื้อ Norovirus และ Hepatitis A ที่ระดับ 5% ในสตรอเบอร์รี่แช่แข็งและการสุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างที่ระดับ 20% ในส้มโอจากจีน
กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลตามกฎหมาย 1 วันหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศในวันที่ 27 กันยายน 2557) และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=OJ:JOL_2014_283_R_0012&from=EN
ที่มา : Thaieurope.net สรุปโดย : มกอช.