เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW) ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานสารเคมีตกค้างและสารปรุงแต่งตามพระราชบัญญัติสุขอนามัยอาหารญี่ปุ่น ครั้งที่ 175 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1) ยกเลิกมาตรฐานสารตกค้าง (MRL) ของสารกำจัดเชื้อรา Dimethomorph และ Propamocarb ในพริกแห้ง โดยให้ใช้ค่า MRL ของ other solanaceous vegetables และอ้างอิง CODEX Processing Factor = 7 ในกรณีที่ไม่ได้ระบุในร่างค่า MRL ให้ใช้ Uniform limit ที่ 0.01 ppm
2) ยกเลิกค่า MRL ของสารกำจัดเชื้อรา Dimethomorph ในองุ่นแห้ง (raisins) โดยให้ใช้ค่าอ้างอิงขององุ่นสด (grape) และคำนวณกลับเป็น MRL ในองุ่นแห้งตามลักษณะของกระบวนการผลิต ในกรณีที่ไม่ได้ระบุในร่างค่า MRL ให้ใช้ Uniform limit ที่ 0.01 ppm
3) ปรับปรุงรายการอนุญาตและค่า MRL ของสารกำจัดวัชพืช Quinaclamine โดยเพิ่มความเข้มงวดสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารหลายชนิดยกเว้นผลิตภัณฑ์ประมง ในกรณีที่ไม่ได้ระบุในร่างค่า MRL ให้ใช้ Uniform limit ที่ 0.01 ppm
4) ปรับปรุงรายการอนุญาตและค่า MRL ของสารปฏิชีวนะ Oxytetracycline, Chlortetracycline และ Tetracycline ในสินค้าเกษตรและอาหาร โดยห้ามการตกค้างในอาหารประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุในตาราง และสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ปริมาณการตกค้างรวมต้องไม่เกินระดับที่กำหนด
5) ปรับปรุงรายการอนุญาตและค่า MRL ของสารกำจัดไร Pyflubumide และสารกำจัดวัชพืช Spinetoram โดยมีความเข้มงวดลดลงทุกรายการ
6) ปรับปรุงแก้ไขวิธีทดสอบยาสัตว์ Clenbuterol, Olaquindox และ Carbadox โดยกำหนดปริมาณต่ำสุดที่สามารถทดสอบได้ของ Clenbuterol ที่ 0.00005 ppm ส่วนสาร Olaquindox และ Carbadox กำหนดไว้ที่ 0.001 ppm
7) กำหนดเกณฑ์ตัดสินการฝ่าฝืน พรบ.สุขอนามัยอาหาร ว่าด้วยการปนเปื้อนสารพิษ Aflatoxin M1 (AFM1) ไว้ที่ 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ppb)
8) กำหนดปริมาณเชื้อ Listeria monocytogenes ไม่เกิน 100 cfu/กรัม ในมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านความร้อน (unheated processed meat products) และผลิตภัณฑ์เนยแข็ง (natural cheeses)
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถส่งข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานดังกล่าวผ่าน WTO/SPS Enquiry Point (กลุ่ม SPS กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช.) อีเมล์ spsthailand@gmail.com และสามารถศึกษารายงานการประชุมได้ที่ [คลิกที่นี่]
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกียว สรุปโดย : มกอช