TH EN
A A A

สถานการณ์ปลานิลในตลาดโลก (มิถุนายน 2556)

21 June 2556   

                หน่วยงาน GLOBEFISH ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปลานิลในตลาดโลก โดยมีสาระสำคัญดังนี้

                  - ปริมาณการผลิตปลานิลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2555 แม้ว่าจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดจะลดปริมาณการผลิตลงก็ตาม แต่ประเทศในแอฟริกายังคงมีความต้องการปลานิลแช่แข็งทั้งตัวจากจีนอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ จะยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกามีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น

                  - จีน: ประเทศจีนได้รับผลกระทบต่อภัยธรรมชาติในปี 2555 ส่งผลให้มีอัตราการตายของปลานิลสูง ทำให้การส่งออกเนื้อปลาแล่แช่แข็งไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลัก จะมีปริมาณลดลง แม้ว่าความต้องการบริโภคจากภูมิภาคแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นก็ตาม สำหรับผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญ ได้แก่ เนื้อปลาแล่แช่แข็ง ที่คิดเป็น 50% ของปริมาณการส่งออกปลานิลทั้งหมดของจีน โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าปลาแล่แช่แข็งประมาณ 60% ของปริมาณที่จีนส่งออก กระนั้นจีนยังคงสามารถขยายปริมาณการส่งออกปลานิลไปยังรัสเซียและยูเครน รวมทั้งตลาดใหม่ได้แก่อิหร่านและคาซัคสถานได้

                  - สหรัฐอเมริกา: ปริมาณการนำเข้าปลานิลของสหรัฐฯ ในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 19% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) โดยผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ เนื้อปลาแล่แช่แข็ง ที่คิดเป็น 73% ของปริมาณการนำเข้าสินค้าปลานิล ในขณะที่การนำเข้าปลานิลแช่แข็งทั้งตัวกลับลดลงจากปี 2554 ถึง 61% และพบว่าสหรัฐฯ นำเข้าปลานิลจากโคลัมเบียเพิ่มขึ้นถึง 20% ซึ่งเป็นผลมาจากความตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศ

                  - สหภาพยุโรป: การส่งออกไปยังภูมิภาคแอฟริกา เป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตลาดส่งออกปลานิลแช่แข็งของสหภาพยุโรป จากเดิมที่ตลาดหลักมีเพียงสหรัฐอเมริกา โดยเพิ่มขึ้นถึง 3.3% จากปี 2554 ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้แก่ ปลานิลชุบแป้ง ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 10% ทว่าปริมาณการนำเข้าสู่สหภาพยุโรปในปี 2555 กลับลดลงจากปี 2554 ถึง 16% คิดเป็นมูลค่าลดลงถึง 23% โดยประเทศผู้ส่งออกหลักมายังสหภาพยุโรปได้แก่ จีน ที่มีปริมาณสินค้าคิดเป็น 88% ของการนำเข้าทั้งหมด โดยมีตลาดสำคัญอยู่ในประเทศโปแลนด์ สเปน และเยอรมนี

                  - เอเชีย: ความต้องการบริโภคปลานิลได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตรุษจีน (กลางเดือนมกราคม 2556) เนื่องจากปลาที่ได้รับความนิยมบริโภคสูง เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาจะระเม็ด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และเป๋าฮื้อ มีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 20-50% ในช่วงเวลาดังกล่าว

                ประเทศผู้ผลิตและส่งออกปลานิลที่สำคัญของเอเชียได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมีประเทศผู้ผลิตรายใหม่ได้แก่ อินเดีย

                  - กระบวนการรับรองการผลิตอย่างยั่งยืน: ความต้องการปลานิลที่ผ่านการรับรองการผลิตอย่างยั่งยืนในสหภาพยุโรปกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Trapia Malaysia ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลานิลในมาเลเซียได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ว่ามีการผลิตอย่างยั่งยืนจาก Aquaculture Stewardship Council (ASC) ของเนเธอร์แลนด์ ทั้งยังได้รับการรับรอง GlobalGAP แล้ว โดยผลผลิตจากฟาร์มดังกล่าวถูกวางจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกในรูปเนื้อปลาแล่แช่แข็งไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ส่วนบริษัท PC Blue Menu ของแคนาดา ก็ผ่านการรับรองจาก ASC เช่นกัน และวางแผนที่จะขยายการผลิตสินค้าประมงอย่างยั่งยืนไปยังผลิตภัณฑ์ปลา pangasius และกุ้งเขตร้อนอื่นๆ อีกด้วย

                สำหรับผลิตภัณฑ์ปลานิลที่ผ่านการรับรองจาก ASC เป็นแห่งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Regal Springs ของอินโดนีเซีย ซึ่งในปัจจุบันสามารถวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน รวมทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ คือ ประเทศแคนาดา ด้วย

 

ที่มา : FAO GLOBEFISH (21 มิ.ย.56)

 
 
 

Is this article useful?