TH EN
A A A

ความเคลื่อนไหวกรณีการปลอมปนเนื้อม้าในสหภาพยุโรป

21 May 2556   
                สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป รายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการตรวจพบเนื้อม้าปลอมปนในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากเนื้อวัวในสหภาพยุโรปเพิ่มเติมดังนี้


                1. ไอร์แลนด์ : กระทรวงเกษตรได้ออกระเบียบให้พ่อค้าและตัวแทนจำหน่ายทุกรายที่ดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่อาหารต้องจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจอาหาร เนื่องจากผลการสอบสวนพบว่าผู้ประกอบการบางรายมีเจตนาปลอมปนเนื้อม้าในผลิตภัณฑ์เนื้อวัว นอกจากนี้จะเตรียมยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์เนื้อม้าให้เทียบเท่ากับเนื้อวัวอีกด้วย

               
2. รัสเซีย : ทางการรัสเซียสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปจากออสเตรียเป็นการชั่วคราว และอาจขยายการห้ามนำเข้าไปสู่ประเทศอื่นๆ หากพบกรณีเนื้อปลอมปนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม 

               
3. เนเธอร์แลนด์ : ผู้ประกอบการในประเทศ 2 ราย ถูกสั่งให้ถอนคืนเนื้อวัวกว่าพันตัน เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยได้
4. สหราชอาณาจักร: ตรวจพบสาร Phenylbutazone ที่ใช้เป็นยาแก้อักเสบในม้า และห้ามใช้ในเนื้อม้าเพื่อการบริโภค เนื่องจากก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางในมนุษย์ ทั้งยังพบ DNA ม้า ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์คอร์นบีฟ (เนื้อวัวบดกระป๋อง) ทำให้มีการสั่งถอนคืนจากซูเปอร์มาร์เก็ตและชั้นวาง

               
ขณะนี้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต่างให้ความร่วมมือในการทดสอบหา DNA ของม้า และการหาสาร Phenylbutazone ทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานตัดแต่ง เสริมความเข้มแข็งในการควบคุมของภาครัฐ และขยายการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยการระบุประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของอาหารบนฉลาก (COOL)  ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ทั้งนี้ แม้เหตุการณ์การปลอมปนเนื้อม้าในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคเนื้อวัวน้อยมาก และไม่ส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อวัว แต่การปรับปรุงมาตรฐานในการตรวจสอบย้อนกลับนั้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้ค้าปลีก จำเป็นต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้มีผู้ประกอบการในห่วงโซ่อาหารที่มีความรับผิดชอบเพิ่มจำนวนมากขึ้น
 
 
 
ที่มา : มกอช./สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์

( 20 พฤษภาคม 2556) 

Is this article useful?