วันที่ 4 มีนาคม 2556 สหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงาน Value of Production of Agricultural Products and Foodstuffs, wines, aromatised wines, and spirits protected by a geographical identification (GI) ซึงเป็นการศึกษาวิเคราะห์มูลค่าการปกป้องชื่อสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งหมดภายใต้ระบบ GI รวมทั้งไวน์และสุรา ดังนี้
1. ประมาณมูลค่าการค้าสินค้า GI ของสหภาพยุโรปทั่วโลก 54.3 พันล้านยูโร ในปี 2553 (ในระดับการขายส่ง) โดยเป็นสินค้าไวน์ 56% (30.4 พันล้านยูโร) สินค้าเกษตรและอาหาร 29% (15.8 พันล้านยูโร) สุรา 15% (8.1 พันล้านยูโร) ไวน์มีกลิ่นของเครื่องเทศหรือ aromatised wine 0.1% (31.3 ล้านยูโร) ซึ่งเป็นการขายในประเทศที่ผลิต 60% ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 20% และนอกสหภาพยุโรป 20% ซึ่งพบว่าการขายสินค้า GI ระหว่างปี 2548 ถึง 2553 เติบโตถึง 12% ส่วนประเทศปลายทางสินค้า GI จากสหภาพยุโรปประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา 30% (3.4 พันล้านยูโร) สวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ประเทศละ 7% (839 และ 829 ล้านยูโร) แคนาดา จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกงประเทศละ 6%
2. อิตาลีและฝรั่งเศสเป็นประเทศสมาชิกที่เป็นผู้นำด้านสินค้า GI มากที่สุด คิดเป็น 60% รองลงมาคือเยอรมนีและอังกฤษ คิดเป็น 21% ของมูลค่าการค้าสินค้า GI
3. อัตรามูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้รับ GI ซึ่งสินค้า GI โดยเฉลี่ยจะขายในราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้รับ GI 2.23 เท่า โดยอัตรามูลค่าเพิ่มของสินค้าไวน์ คิดเป็น 2.75 เท่า สุรา 2.57 เท่า และสินค้าเกษตรและอาหาร 1.55 เท่า แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตสินค้า GI จะได้กำไร (Margin) สูงกว่า 2.23 เท่า เนื่องจากผู้ผลิตสินค้า GI จะต้องมีตันทุนเพิ่มในการปฎิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ GI
4. ประมาณมูลค่าเพิ่มของสินค้า GI จากสหภาพยุโรปรวม 29.8 พันล้านยูโร โดยเป็นไวน์ 65% (19.3 พันล้านยูโร) สินค้าเกษตรและอาหาร 19% (5.6 พันล้านยูโร) และสุรา 16% (4.9 พันล้านยูโร)
5. ปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามระบบ GI ของสหภาพยุโรปทั้งสิ้น 1,108 รายการโดยเป็นสินค้าที่ได้ PDO 560 รายการและ PGI 548 รายการ สำหรับสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ( Khao Hom Mali Thung kula Rong-Hai) ของไทยเป็นสินค้าลำดับที่ 544 ที่ได้รับการจดทะเบียน PGI
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://ec.europa.eu/agriculture/external-studies/2012/value-gi/final-report_en.pdf
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป
ณ กรุงบรัสเซลส์ (11 เม.ย.56)