ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดส่งคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยผู้อำนวยการกองนโนบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร และผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย ทั้งหน่วยงานรับผิดชอบออกใบแนะนำก่อนนำเข้าพืชสวน (RIPH) และหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องเขตปลอดศัตรูพืชและการทำการยอมรับร่วม (MRA) รวมทั้งเข้าร่วมกับผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในการเข้าพบหารือกับกระทรวงการค้าซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบออกใบอนุญาตนำเข้า (Import permit) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สรุปสาระสำคัญดังนี้
๑. จากการที่ในช่วงที่ผ่านมาอินโดนีเซียได้ออกระเบียบใหม่หลายฉบับ รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแก้ไข และยกเลิก โดยให้มีการบังคับใช้ตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2555 ซึ่งจะมีขั้นตอนต่างๆในการนำเข้าสินค้ากลุ่มพืชหัว ผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาก โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกไทยคือ ผู้นำเข้าของอินโดนีเซียต้องยื่นขอใบแนะนำจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียโดยต้องแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายชื่อผู้ส่งออก รายชื่อฟาร์มและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ปริมาณสินค้าที่ต้องการส่งออกมาอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรอินโดนีเซียจะออกใบแนะนำให้โดยระบุว่าจะนำเข้าได้จำนวนเท่าไรโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การผลิตภายในประเทศของอินโดนีเซีย ช่วงเวลาผลิต ความต้องการบริโภค เป็นต้น หลังจากนั้นผู้นำเข้าจะต้องนำใบแนะนำนี้ไปขอออกใบอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียก่อนจึงจะนำเข้าสินค้าได้
๒. ฝ่ายไทยได้มีการชี้แจงว่า เนื่องจากความซับซ้อนของกฎระเบียบประกอบกับเพิ่มขั้นตอนต่างๆรวมทั้ง เป็นเรื่องใหม่ทำให้เกิดความสับสนทั้งกับผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และเจ้าหน้าที่ จึงขอให้อินโดนีเซียพิจารณาทบทวนและขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ไปก่อนเมื่อมิให้กระทบต่อการค้า อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งว่าสินค้าเป้าหมายที่อยู่ในระเบียบหากมาถึงด่านนำเข้าอินโดนีเซียหลังวันที่ 28 ตุลาคม จะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ มิฉะนั้นจะถูกปฏิเสธการนำเข้า
ทั้งนี้หากมีใบแนะนำแล้ว ฝ่ายอินโดนีเซียยืนยันว่าจะสามารถออกใบอนุญาตนำเข้าได้ภายใน 5 วันทำการและไม่มีความยุ่งยากในการขอเนื่องจากเป็นการยื่นขอแบบออนไลน์ สำหรับใบแนะนำในรอบนี้ (นำเข้าได้จนถึงสิ้นปี 2555) เนื่องจากมีคำขอเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 1,800 คำขอจึงได้ขยายระยะเวลาในการออกให้จนถึงภายใน 23 ธันวาคม สำหรับการนำเข้าในปีหน้าจะแจ้งรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
๓. ในส่วนของผลไม้ไทยที่ส่งออกไปอินโดนีเซียที่จะได้รับผลกระทบจากระเบียบนี้คือ ลำไย ทุเรียนและมะม่วง และพืชสวน คือ หอมแดง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ลำไยของไทยบางตู้ถูกกักกันอยู่ที่ด่านและส่งออกมาแล้วหลัง 28 ตุลาคมจะมาถึงอินโดนีเซียในสัปดาห์หน้าเป็นสินค้าที่ผู้นำเข้ามีใบแนะนำหมดแล้ว แต่อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งหากเป็นไปตามที่อินโดนีเซียยืนยันก็คาดว่าสินค้าจะสามารถตรวจปล่อยได้ ไม่มีปัญหา
๔. สำหรับลำไย และทุเรียนของไทยนั้น ปัจจุบันสามารถส่งออกเข้าไปได้ทุกด่านนำเข้าของอินโดนีเซีย แต่มะม่วงและหอมแดงไม่สามารถส่งเข้าไปยังด่านทางเรือของจาการ์ตาได้ แต่ต้องส่งเข้าที่เมืองสุราบายาก่อนขนส่งเข้ามายังจาการ์ตา ทำให้มีปัญหาต้นทุนขนส่งเพิ่มและมีปัญหาเรื่องอายุเก็บรักษาในกรณีของมะม่วง ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ยื่นขอทำการยอมรับร่วมหรือ เอ็มอาร์เอ กับอินโดนีเซียแล้วโดยจะขอขยายให้ครอบคลุมทุกสินค้าที่ไทยส่งออกไปอินโดนีเซีย สำหรับในส่วนของหอมแดงจะตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศัตรูพืชก่อนว่าจะขอยื่นทำเขตปลอดศัตรูพืชแทนหรือจะทำการยอมรับร่วมพร้อมกับพืชอื่นว่าอย่างไหนจะใช้ระยะเวลาเสร็จเร็วกว่า ซึ่งหากทำเขตศัตรูพืชหรือการยอมรับร่วมแล้ว สินค้าจะสามารถส่งเข้าได้ทุกด่านนำเข้าและไม่ต้องถูกตรวจสอบ สารตกค้างที่ด่านนำเข้า
๕. กรณีเซอเวย์เยอ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารก่อนการส่งออกนั้น สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงจาการ์ตาจะประสานงานกับหน่วยงานเซอเวย์เยอของอินโดนีเซียกับของไทย เพื่อให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถใช้บริการจากเซอร์เวย์เยอได้เมื่อมีการบังคับใช้ระเบียบเรื่องนี้
๖. ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกผลไม้และพืชสวนที่สำคัญของไทยหลายรายการ เช่น ลำไย ทุเรียน หอมแดงของไทย โดยไทยส่งออกในปี 2554 ประมาณ 2,100 ล้านบาท 600 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้ารังนกและสินค้าประมงเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์รังนกและประมง การค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในรายการเหล่านี้มีอัตราการขยายตัวสูง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะติดตามกฎระเบียบต่างๆ ประเด็นปัญหาทีเกิดขึ้นรวมทั้งเร่งรัดการเจรจาเขตปลอดศัตรูพืชและการยอมรับร่วม ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีปัญหาประการใดสามารถแจ้งได้ที่ มกอช. หรือกรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (5 พ.ย.55)