จากการที่กระทรวงพลังงานและแร่ธาตุของอินโดนีเซีย ได้ออกนโยบายการพัฒนาการผลิตเอทานอลเมื่อปี 2551 โดยตั้งข้อกำหนดส่วนผสมขั้นต่ำของน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ให้ใช้ไบโอเอทานอลเป็นส่วนประกอบ 3% และสำหรับภาคอื่นๆ 5% แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากต้นทุนการผลิตไบโอเอทานอลสูง ขาดมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล และยังมีการอุดหนุนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในสัดส่วนที่สูง นั้น
ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลกับองค์กรของญี่ปุ่น รวมทั้งมีการก่อสร้างโรงกลั่นเอทานอลจากกากน้ำตาล มีกำลังการผลิต 100,000 ลิตรต่อวัน กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคม 2556 เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก
อย่างไรก็ตาม การผลิตไบโอเอทานอลของอินโดนีเซียยังคงต้องพัฒนาการจัดการใช้ประโยชน์ และต้องเตรียมเผชิญปัญหาราคารับซื้อจากภาครัฐ เพื่อให้คุ้มต้นทุนการผลิตและสามารถแข่งขันกับพลังงานประเภทอื่นโดยเฉพาะเชื้อเพลิงปิโตรเลียมที่มีต้นทุนต่ำกว่าและได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ในจุดนี้อาจเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพิจารณาการขายเอทานอลส่วนเกินไปสู่ตลาดอินโดนีเซีย รวมทั้งสนับสนุนให้อินโดนีเซียบรรลุเป้าหมายพลังงานทดแทนได้ในอนาคต