ภายหลังเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ รั่วไหลเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ออสเตรเลียได้ประเมินความเสี่ยงจากการดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นหลายร้อยตัวอย่าง และพบเพียงจำนวนน้อยที่มีการปนเปื้อนรังสี รวมทั้งรังสีที่พบก็อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยสากล
เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา หน่วยงานมาตรฐานอาหารของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (FSANZ) ได้จัดทำข้อมูลความเสี่ยงอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นให้แก่กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (DAFF) ของออสเตรเลีย โดยคำนึงถึงข้อแนะนำของหน่วยงาน Australian Radiation Protection และ Nuclear Safety Agency ที่แม้ว่าความเสี่ยงจากอาหารปนเปื้อนรังสีจากญี่ปุ่นต่อสุขภาพมนุษย์จะมีอยู่ต่ำ แต่ยังคงมีความเสี่ยงของอาหารปนเปื้อนรังสีที่นำเข้ามายังออสเตรเลีย และมีการประกาศรายชื่ออาหารที่เคยตรวจสอบซีเซียมกัมมันตรังสีปนเปื้อนจากหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่นหรือออสเตรเลีย เพื่อให้ติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ตามรายการต่อไปนี้
· ใบชา (ทั้งสดและแห้ง)
· เห็ดตากแห้ง
· ปลา (สด, แช่แข็ง และตากแห้ง)
โดยจะมีผลเฉพาะอาหารที่มาจากเขต ชิบะ, ฟุกุชิมะ, อิบารากิ, มิยางิ, ไซตามะ, โทชิกิ, โตเกียว และยามางาตะ เท่านั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกตรวจสอบซีเซียมกัมมนตรังสีให้ไม่เกินค่ามาตรฐานจึงจะอนุญาตให้นำเข้าออสเตรเลียได้