เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 เจ้าหน้าที่รายงานว่าพบไข้หวัดนกชนิดสายพันธุ์รุนแรง หรือ H5N1 ระบาดในฟาร์มแห่งหนึ่งในเขต Meherpur ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุง Dhaka แต่ได้ทำลายไก่แล้วจำนวน 1,803 ตัว และไข่ 994 ฟองเมื่อคืนวันที่ 26 ธันวาคม 2554
การระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งนี้นับเป็นการระบาดครั้งที่ 4 ในบังกลาเทศนับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ก่อนหน้าการระบาดครั้งล่าสุด บังกลาเทศทำลายไก่จำนวน 14,000 ตัวและไข่ 50,000 ฟองในฟาร์ม 3 แห่ง นับตั้งแต่การกลับมาระบาดในเดือนพฤศจิกายน ไข้หวัดนกได้ระบาดไปยังเขตอื่นๆ 4 เขต เช่น Manikganj ตอนกลาง และ Rajbarbi ทางตอนใต้ และประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน พบการระบาดของไข้หวัดนกที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเขต Bagerhat ทางตอนใต้
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงประมงและปศุสัตว์กล่าวว่าไม่คาดคิดว่าจะมีการระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้หวัดนกในช่วงเวลานี้ แต่ก็ไม่ควรละเลยความเป็นไปได้ของการกลับมาระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดนกในฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไข้หวัดนกมักระบาดมากในช่วงฤดูนี้
กระทรวงฯได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันนับตั้งแต่พบการระบาดของโรค นอกจากนี้ยังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามฆ่า ทำลาย กำจัดและการทำให้ปลอดเชื้ออย่างเหมาะสมทันทีหลังพบการระบาด
บังกลาเทศเป็นประเทศที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูง (HPAI) เนื่องจากมีมาตรการชีวอนามัยที่ไม่เพียงพอ มีการเลี้ยงไก่และเป็ดรวมกัน การจำหน่ายนกมีชีวิตและการติดตามการระบาดของโรคอย่างไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 พบการติดเชื้อในมนุษย์เป็นครั้งแรกในบังกลาเทศ โดยผู้ติดเชื้อเป็นเด็กอายุ 16 เดือน