TH EN
A A A

ญี่ปุ่นเร่งสร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหาร หลังวิกฤติการณ์รังสีรั่วไหล

4 July 2554   
                เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น จัดบรรยายเรื่อง ความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารญี่ปุ่น โดยเน้นชี้แจงเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารและมาตรการตรวจสอบการปนเปื้อน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

                1. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2554 ญี่ปุ่นกำหนดให้สินค้าเกษตรที่มีปริมาณระดับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีน้อยกว่า 5 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสามารถบริโภคได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งห้ามจำหน่ายสินค้าเกษตรใน 5 จังหวัด ได้แก่ ฟุคุชิมะ อิบารากิ กุนมะ โตชิกิ และชิบะ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลท้องถิ่นและเกษตรกร เนื่องจากตรวจพบการปนเปื้อนในบางพื้นที่ของจังหวัดเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกคำสั่งให้เหลือเพียงบางพื้นที่ ในเขตใกล้เคียงโรงไฟฟ้าที่มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหล ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ได้ประกาศสั่งห้ามจำหน่ายสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ของจังหวัดฟุกุชิมะ และทางตอนเหนือของอิบารากิเท่านั้น

               2. พ่อค้า  ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่น ใช้ความระมัดระวังในการคัดสรรวัตถุดิบ โดยบริษัท Oisix ได้เพิ่มกระบวนการตรวจสอบการปนเปื้อนหลายขั้นตอนก่อนขนส่งสินค้า และเสนอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อนตามจุดกระจายสินค้าและท่าเรือ รวมถึงตรวจสอบกักกันพืช/สัตว์ในทุกจุด ตลอดจนแต่งตั้งองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ และแต่งตั้งโฆษกเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร

               3. จากมาตรการที่เข้มงวด ตลอดจนการระงับการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภคและรายได้ของร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งในและนอกญี่ปุ่นลดลง ทั้งนี้นาย Takagi เจ้าของภัตตาคาร Zeniya ได้เสนอให้ผู้ประกอบการหาสิ่งทดแทนวัตถุดิบหรือส่วนผสมจากญี่ปุ่น

              4. นาย Karaki รองประธานด้านกิจการต่างประเทศ สภาวิทยาศาสตร์ประจำคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอาหารภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ ให้ยุติการนำเสนอข่าวในเชิงลบอันจะเพิ่มความกังวลให้แก่ผู้บริโภค และเชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารและสินค้าเกษตรให้กลับมาได้อีกครั้ง
 
 
 
ที่มา : มกอช.
 
 
 
 
 
 

Is this article useful?