รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มประกาศใช้กฎหมายประมงฉบับใหม่อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา เนื่องจากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องบนชายฝั่ง เพื่อกระจายรายได้และสร้างงานในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดว่าเรือประมงต่างชาติสามารถจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียใน 2 รูปแบบ คือ 1) เป็นกิจการร่วมลงทุน (Joint venture) กับนักธุรกิจท้องถิ่นและใช้ธงชาติอินโดนีเซีย 2) ให้นักธุรกิจอินโดนีเซียเช่าเรือประมงไทยเพื่อทำการประมง
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันบริษัทเอกชนไทยจำนวน 12 ราย ได้นำเรือประมงไทยจำนวน 409 ลำเข้าไปจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone หรือ EEZ) น่านน้ำอินโดนีเซีย ทะเลอาราฟูร่าและทะเลจีนใต้ ทั้งนี้กองเรือส่วนใหญ่ 60 %
เข้าไปจับปลาในลักษณะการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเปิดโอกาสนักลงทุนชาวไทยมีสิทธิถือหุ้นได้สูง 80 % ส่วนกองเรือประมงไทยที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นเรือประมงที่ถูกนักธุรกิจอินโดนีเซียเช่าทำประมงเป็นระยะเวลา 2 ปี
ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดว่า สินค้าสัตว์น้ำที่จับได้ต้องส่งขึ้นที่ท่าเรืออินโดนีเซียประมาณ 70% ที่เหลือ 30% สามารถส่งกลับมาขายในไทยได้ แต่ผู้ร่วมทุนฝ่ายอินโดนีเซียยินยอมจะปรับเปลี่ยนให้สามารถส่งสินค้าสัตว์น้ำกลับมาขายที่ประเทศไทยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 70% และนำแปรรูปภายในประเทศอินโดนีเซีย 30% เนื่องจากราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ส่งขึ้นจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซียก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาที่จำหน่ายในประเทศไทยจึงถือว่าไม่ขาดทุน
การขยายฐานการลงทุนเพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าสัตวน้ำในอินโดนีเซียก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเพราะสินค้าสัตว์น้ำที่จับได้จากน่านน้ำอินโดนีเซียมีไม่ต่ำกว่า
40-50 ชนิด หากจะตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำในเบื้องต้น 5-10 ชนิด ก่อนจะส่งเข้ามาจำหน่ายที่ไทยในอนาคต ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตให้ต่ำลงได้ทางหนึ่ง
นายภัคพงศ์ สุคนธมาน เลขาธิการสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยควรหาพื้นที่ทำการประมงที่มีศักยภาพและคุ้มทุนในการทำประมงใหม่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อกระจายความเสี่ยงในการประมง เช่น แหล่งทำการประมงในแอฟริกาและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ควรสนับสนุนการทำประมงเบ็ดราวทูน่าและอวนล้อมทูน่าน้ำลึกให้เพิ่มมากขึ้น
อ้างอิงจาก : ประชาชาติธุรกิจ