TH EN
A A A

‘ไทย-ไต้หวัน’พบอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นมีสารกัมมันตรังสี

30 March 2554   
                นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากตัวอย่างอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 97 ตัวอย่าง ผลตรวจยืนยันออกมาแล้ว 74 ตัวอย่าง 1 ในนั้นคือมันเทศ ที่นำเข้าจาก จังหวัดอิบารากิ พบปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับ 15.25 เบคคาเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งแม้เป็นระดับที่ต่ำมาก ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยที่ระบุว่าต้องไม่เกิน 100 เบคคลาเรลต่อกิโลกรัม แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้อายัดมันเทศที่นำเข้าทั้งหมด 75 กิโลกรัม พร้อมส่งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจวิเคราะห์ว่า ระดับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีจะสามารถลดลงได้อีกหรือไม่ หากปล่อยไว้หลายวัน พร้อมกับหาทางทำลายมันเทศทั้งหมดด้วยวิธีปลอดภัย

               ทั้งนี้ ได้สั่งให้ด่านตรวจอาหารและยาทั้งหมด เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบอาหารให้มากยิ่งขึ้น ส่วนกรณีที่ญี่ปุ่นออกมาระบุว่า ค่ากัมมันตรังสีในน้ำทะเลเกินระดับมาตรฐานไปมากแล้ว ในส่วนของประเทศไทย มีการนำเข้าปลาแมคคาเรล และซาบะจากประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่พบความผิดปกติ ซึ่งคาดว่า หากมีการปนเปื้อนจริง ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน จึงจะพบการปนเปื้อนในสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น 

               ขณะที่ไต้หวันตรวจพบสารกัมมันตรังสีจำนวนหนึ่งในกล่องบรรจุอุด้ง ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารเปิดเผยว่า เจ้าหน้าศุลกากรที่คีลัง ฮาร์เบอร์ได้ตรวจพบไอโอดีน 131 , ซีเซียม 134 และซีเซียม 137 ในกล่องบรรจุห่ออุด้ง แต่ไม่พบในซองพลาสติกที่ห่อหุ้มอุด้งแต่ไม่พบในเส้นอุด้งส่วนระดับของสารกัมมันตรังสีที่พบอยู่ในระดับปลอดภัยภายใต้ข้อกำหนดของไต้หวัน และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยอุดงดังกล่าวเดินทางมาจากเมืองท่าโยโกฮาม่า และไม่แน่ชัดว่า กล่องบรรจุปนเปื้อนได้อย่างไร

               ก่อนหน้านี้ ไต้หวันตรวจพบสารกัมมันตรังสีจากถั่วลันเตาหวาน และหอยงวงช้าง นำเข้าจากญี่ปุ่นแต่การปนเปื้อนก็ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดของไต้หวัน อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25มีนาคม 2554 ไต้หวันได้ระงับอาหารนำเข้าจาก 5 จังหวัดของญี่ปุ่น ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
 
 
ที่มา : Voice TV
 
 
 
 
 
 

Is this article useful?