TH EN
A A A

รังสีพ่นพิษอาหารญี่ปุ่นนานาชาติออกมาตรการ

25 March 2554   
                กระแสหวาดกลัวการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากญี่ปุ่นลามหนัก สิงคโปร์ ออสเตรเลีย รัสเซีย ออกมาตรการตามอย่างสหรัฐ ส่วนฟิลิปปินส์ ห้ามนำเข้าช็อกโกแลตจากแดนซามูไร
               เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 นายฟลอเรนซ์ ซิลบาโน หัวหน้ากองควบคุมคุณภาพอาหาร กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ เปิดเผยโดยอ้างคำพูดของนายเอฟรอน มูเอสโตร ผู้อำนวยการกองอุตสาหกรรมสัตว์ที่มีคำสั่งเรียกคืนใบอนุญาตนำเข้าช็อกโกแลตจากญี่ปุ่นที่ออกให้บรรดาผู้นำเข้าเมื่อเดือนมกราคม ทั้งนี้ กองอุตสาหกรรมสัตว์ เป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด อาทิเช่น ปลาและเนื้อ รวมทั้งอาหารที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ช็อกโกแลต ซึ่งบางชนิดใช้นมวัวเป็นส่วนผสม
              สำนักงานอาหารเกษตรและสัตวแพทย์สิงคโปร์ได้ออกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น อาทิ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผลไม้ ผัก อาหารทะเลและเนื้อสัตว์ หลังจากกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น เปิดเผยว่า พบรังสีปริมาณสูงปนเปื้อนในน้ำนมดิบและผัก จากจังหวัดฟูกุชิมา อิบารากิ โตชิกิ และกุนมะ พร้อมกันนี้สำนักงานฯ จะติดตามและตรวจสอบอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นต่อไป
             ขณะเดียวกันออสเตรเลียสั่งระงับการนำเข้าอาหารจาก 4 จังหวัด ใกล้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ได้แก่  ฟูกุชิมา อิบารากิ โตชิกิ และกุนมะ โดยอาหารที่ห้ามนำเข้าได้แก่ สาหร่ายทะเล อาหารทะเล นม ผลิตภัณฑ์นม ผลไม้สด และผัก แต่อาหารที่อยู่บนหิ้งแล้วมีความปลอดภัย เพราะจัดส่งก่อนเกิดแผ่นดินไหว
             นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารส่งตรวจที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งแต่ 16-23 มีนาคม 2554 จำนวน 65 ตัวอย่าง โดยได้รับผลวิเคราะห์แล้ว 39 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลาสด 29 ตัวอย่าง มันเทศ 1 ตัวอย่าง ลูกพลับแห้ง 1 ตัวอย่าง สตรอว์เบอร์รี 2 ตัวอย่าง หอย 3 ตัวอย่าง กุ้ง 2 ตัวอย่าง และปลาหมึก 1 ตัวอย่าง ผลการตรวจวัดสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบการปนเปื้อน
            ขณะนี้เหตุการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในญี่ปุ่นรุนแรงมากขึ้น อย. จึงมีมาตรการในการปรับระดับการเฝ้าระวังอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยขอความร่วมมือผู้นำเข้าให้ระมัดระวังการนำเข้าอาหารจากเกาะฮอนชู โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งช่วงนี้ที่มีการนำเข้าเพียงมันเทศ 100 กก. สตรอว์เบอร์รี 20-30 กก. และลูกพลับแห้งเท่านั้น อย. จะเก็บตัวอย่างมาตรวจ รวมทั้ง ขอความร่วมมือผู้นำเข้าชะลอการจำหน่าย จนกว่าผลการตรวจวิเคราะห์จะเสร็จสำหรับอาหารทะเล อย. จะสุ่มตัวอย่างเพิ่มมากขึ้นและขอให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เร่งดำเนินการตรวจผัก และผลไม้ก่อนสินค้าอื่น  คาดว่าผลการตรวจน่าจะไม่เกิน 24 ชม. เมื่อผลออกมาแล้วค่อยนำไปจำหน่าย ส่วนนมนั้นไทยไม่ได้นำเข้าจากญี่ปุ่น แม้นมบางยี่ห้อจะมีชื่อญี่ปุ่นก็ตาม ในช่วงนี้จะเฝ้าระวังอาหารทะเล ผักและผลไม้ก่อน ส่วนขั้นต่อไปจะเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์นมหรือขนมจากญี่ปุ่น คาดว่าต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน
           จีนออกมาตรการควบคุมอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อหาร่องรอยกัมมันตรังสี ฮ่องกงตรวจสอบอาหารสดทั้งหมดที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2554 เพื่อหาร่องรอยกัมมันตรังสีไอโอดีนและซิเซียม มาเลเซียตรวจสอบอาหารทั้งหมดที่นำเข้าจากญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีแผนห้ามนำเข้า 
          อินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น ตรวจสอบและให้หลักประกันว่าผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภทที่นำเข้ามาจำหน่ายในอินโดนีเซียหลัง 11 มีนาคม ปลอดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 
         รัสเซียได้งดนำเข้าอาหารจาก 4 จังหวัดเช่นกัน แต่เกาหลีใต้บอกว่าไม่มีแผนจะสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากเขตภัยพิบัติของญี่ปุ่นในช่วงนี้ เพราะตรวจไม่พบการปนเปื้อนรังสี
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์
 
 
 
 
 
 
 
 

Is this article useful?