ไวน์จีนปลอมผสมสารเคมีเสพติดหลายตัว ทำลายหัวใจไปจนถึงก่อมะเร็ง รัฐบาลจีนเร่งแก้ไขจับ 6 ผู้ต้องหา ปิดโรงงานอีกนับสิบ และเร่งเอาไวน์ออกจากร้านค้า
เหตุเกิดขึ้นที่อำเภอฉางลี่ในมนฑลเหอเป่ย์ แหล่งผลิตไวน์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน เป็นอีกหนึ่งปัญหาคุณภาพอาหาร หลังจากที่เคยมีปัญหานมปนเปื้อนสารพิษในปี 2551
หนังสือพิมพ์โกบลอลไทมส์อ้างถึงการเปิดเผยทางโทรทัศน์ของรัฐว่า โรงงานผลิตไวน์ตกแต่งสินค้าของตนเองด้วยน้ำตาล สารเคมีผสมสี และกลิ่นสังเคราะห์ แล้วแปะฉลากปลอมว่าเป็นไวน์ยี่ห้อดัง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ฮวงเว่ยตง ชี้ว่า สารเสพติดที่ผสมลงในไวน์อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจ มีอาการปวดหัว จนถึงขนาดก่อให้เกิดมะเร็งได้
โฆษกวอลมารต์ในปกกิ่งจางเทา แถลงสื่อว่า เพื่อความปลอดภัยทางบริษัทได้เริ่มนำไวน์ออกจากชั้นวางขายแล้ว สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าปิดโรงงานไวน์กว่า 30 แห่ง ส่วนโกลบอลไทมส์รายงานว่า บัญชีธนาคารมูลค่า 427,000 ดอลลาร์สหรัฐ (12.8 ล้านบาท) ของบริษัทผลิตไวน์ถูกระงับ และทางการได้ยึดไวน์ไปแล้วกว่า 5,000 กล่อง แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่ายังมีไวน์ปลอมวางขายอยู่อีกเป็นจำนวนเท่าไหร่
รายงานของไวน์ปลอมนี้โผล่ขึ้นมา ในช่วงที่จีนกำลังเตรียมฉลองทั้งเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ขายดีเป็นพิเศษ ส่งผลให้รัฐบาลจีนถูกกดดันจากประชาชนและนานาชาติ ให้เพิ่มมาตรฐานในสินค้าอาหารและยาให้สูงขึ้น เพราะเคยมีเรื่องทำนองเดียวกันเมื่อปี 2551 ที่เด็กเสียชีวิต 6 ราย และล้มป่วยราว 3 แสนคนจากการดื่มนมที่ผสมสารเมลามีนเพื่อให้ดูมีโปรตีนสูง