TH EN
A A A

สหรัฐฯจ้องตัดGSPถุงมือยาง

15 November 2553   
                กรมการค้าต่างประเทศแจ้งเตือนผู้ส่งออกส่งถุงมือยางเกินกว่าเพดาน (CNL) การใช้สิทธิพิเศษ GSP มีสิทธิถูกสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษ ต้องเสียภาษีนำเข้า 3% ในปี 2554 ด้านสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยวิ่งวุ่นเตรียมทำหนังสือแก้ข้อกล่าวหา ขอ USTR ผ่อนผันขยายสิทธิพิเศษ GSP ต่ออีก 1 ปี
                ในปี 2553 สินค้าถุงมือยางของไทยมีการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP เพิ่มขึ้นจนเป็นอันดับ 1 จากสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิ GSP ทั้งหมดราว 3,000 รายการ โดยการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2553) มีมูลค่า 90.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่มีการส่งออกเพียง 46.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นกรมจึงได้แจ้งเตือนไปยังสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 
               ทั้งนี้ปริมาณการใช้สิทธิพิเศษ GSP สินค้าถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี อาจจะทำให้สหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทยในรายการนี้ เนื่องจากตัวเลขการใช้สิทธิสูงเกินกว่าเพดาน (CNL) ที่สหรัฐฯกำหนดไว้ที่ปีละ 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่งการตลาดไม่เกิน 50% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวของสหรัฐฯ จึงขอให้ทางผู้ส่งออกถุงมือยางเตรียมตัว หากจะต้องจัดทำคำร้องขอ "ยกเว้น" การตัดสิทธิ GSP กรณีนี้ (CNL WAVER) ซึ่งทางสหรัฐฯจะพิจารณาจากสถิติการส่งออกถุงมือยางปี 2553 เพราะหากถูกตัดสิทธิถุงมือยาง ไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา MFN 3%
              อย่างไรก็ตามภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 สมาคมและผู้ส่งออกถุงมือยางจะส่งหนังสือถึงรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขอให้พิจารณาขยายสิทธิพิเศษ GSP ให้แก่สินค้าถุงมือยางของไทยต่อไป เพื่อช่วยเหลือและสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ของภาคแรงงานและเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจำนวนมาก เพราะหากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างหนัก ทำให้ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯหันไปซื้อถุงมือยางจากคู่แข่งขันคือ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย ที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP รายการนี้จากสหรัฐฯ แทนที่จะซื้อจากไทย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Is this article useful?