TH EN
A A A

กุ้งไทยยื่น 4 ข้อแย้ง IRA ออสซี่

26 February 2550   
               กุ้งไทยยื่น 4 ข้อโต้แย้งออสซี่ก่อนบังคับใช้มาตรการ  IRA   ประกาศหากโต้แย้งแล้วยังดันทุรังออกกฎคุมเข้ม     ยากปฏิบัติเหมือนเดิมพร้อมส่งเรื่องฟ้อง WTO

              ดร.จรัลธาดา กรรณสูตร อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า จากการที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปประเทศออสเตรเลียระหว่าง13-16  กุมภาพันธ์ 2550  เพื่อเสนอความคิดเห็นและข้อโต้แย้งกรณีที่รัฐบาลออสเตรเลียได้เวียนร่างมาตรการการนำเข้ากุ้งและสินค้ากุ้งฉบับใหม่(IRA)ให้ประเทศคู่ค้าพิจารณาและแจ้งข้อคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งภายในวันที่   21กุมภาพันธ์ศกนี้ว่า ไทยได้นำเสนอมาตรการทางเลือกที่สำคัญแก่รัฐบาลออสเตรเลีย  รวม 4 ข้อ คือ

              หนึ่ง กุ้งจะต้องมาจากฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานการทำการเกษตรที่ดี(GAP) และหรือมีจรรยาบรรณในการเลี้ยงกุ้งที่ดีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของกรมประมง(CoC)  และอยู่ภายใต้ระบบการเฝ้าระวังโรค โดยไม่พบว่ามีอาการของโรคในระยะเวลา 6  เดือนก่อนการส่งออกไปยังออสเตรเลีย   ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังที่มาของกุ้งได้และผลิตภัณฑ์ได้จนถึงระดับฟาร์มและโรงเพาะฟัก  (ข้อกำหนดของออสเตรเลียระบุกุ้งต้องมาจากเขตปลอดโรค   หรือประเทศที่ปลอดโรคโดยการรับรองว่าปลอดจากโรคที่เป็นอันตรายตามที่ระบุไว้ใน
IRA)

              สอง สินค้าจะต้องแปรรูปในสถานแปรรูปที่ผ่านการรับรองจากกรมประมง  โดยกุ้งที่ต้มจะต้องเปลี่ยนสี
และไม่มีส่วนที่ไม่สุกเหลืออยู่(ข้อกำหนดของออสเตรเลียกุ้งจะต้องแปรรูปในสถานแปรรูปที่ได้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่มีคุณสมบัติให้อยู่ในมาตรฐานที่โปรตีนในกุ้งแปรรูปเปลี่ยนสภาพ  และไม่มีส่วนที่ไม่สุกปนอยู่ โดยอุณหภูมิกึ่งกลางตัวกุ้งอยู่ที่ 85  องศาเซลเซียส)

              สาม เป็นสินค้าแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น กุ้งชุบแป้ง ติ่มซำ ฯลฯ  (ออสเตรเลียกำหนดให้สินค้าแปรรูปเพิ่มมูลค่าที่แปรรูปโดยการตัดหัว ปอกเปลือก โดยให้ระบุว่าเป็นสินค้าเพื ่อการบริโภคของมนุษย์ดังต่อไปนี้ ชุบเกล็ดขนมปัง
ผ่าหลังตัดหัว ปอกเปลือก ยกเว้นส่วนหางปล้องสุดท้าย และแพนหาง หรือแปรรูปเป็นกุ้งชุบ กุ้งเคลือบ ติ่มซำ ปอเปี๊ยะ samosa หรือลูกชิ้น)

              สี่  สินค้าทุกเที่ยว(ชิปเม้นต์)จะต้องแนบใบรับรองจากกรมประมงว่าผลิตจากกระบวนการที่ผ่านการรับรอง
และมีการตรวจสอบย้อนกลับได้  (ออสเตรเลียกำหนดให้สินค้าทุกชิปเม้นต์ต้องผ่านการตรวจก่อนการนำเข้าว่าปลอดจากเชื้อตัวแดงดวงขาว และโรคตัวเหลือง โดยใช้หลักการทางดีเอ็นเอในการตรวจสอบ ทำการสุ่มตัวอย่างที่ความเชื่อมั่น 95%)

             ดร.จรัลธาดากล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวทางออสเตรเลียได้รับไปพิจารณา  และเชื่อว่าจะผ่อนปรนความเข้มข้นลง  เพราะในบางประเด็นไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน  หากสุดท้ายแล้วทางออสเตรเลียไม่ผ่อนปรนและยังใช้มาตรการที่เข้มงวดเช่นเดิมไทยจะดำเนินการฟ้องร้องออสเตรเลียต่อองค์การการค้าโลกต่อไป  เพราะถือเป็นการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

               ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกกุ้งไปออสเตรเลียมูลค่า1,849 ล้านบาท  ขยายตัวลดลงจากปีก่อน 22% หากออสเตรเลียบังคับใช้มาตรการ IRA  อย่างเข้มข้นจะส่งผลต่อการส่งออกที่ลดลงมากขึ้นอย่างแน่นอน

อ้างอิงจาก : ฐานเศรษฐกิจ

Is this article useful?