เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวการเรียกคืนไข่ไก่ครั้งยิ่งใหญ่มากถึง 550 ล้านฟอง จากผู้ผลิต 2 รายในรัฐ Iowa หลังพบการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา แม้ว่าสหรัฐฯ จะบังคับใช้กฎหมายไข่ปลอดภัยใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) เปิดเผยว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอว่าการใช้วัคซีนจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้ USFDA จึงไม่ได้บังคับให้เกษตรกรฉีดวัคซีนให้ไก่เพื่อป้องกันโรค แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อไข่ 1 โหลไม่ถึงเพนนี
USFDA กล่าวว่า หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เร็วกว่านี้ คงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเรียกคืนไข่ปนเปื้อนเชื้อนี้ได้ ซึ่งกฎหมายนี้กำหนดให้ทดสอบการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา มาตรฐานด้านความสะอาดสำหรับโรงเลี้ยงไก่ การแช่เย็น อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญมองว่าการบังคับใช้วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นแต่กลับขาดไปจากกฎหมายดังกล่าว ผู้บริโภคบางรายให้ความเห็นว่า เหตุการณ์เรียกคืนไข่ปนเปื้อนเชื้อนี้จะผลักดันให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯ เริ่มใช้วัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคอีกครั้ง นอกจากนี้ ดร. Nega Beru ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารปลอดภัยสหรัฐฯ กล่าวว่า กฎหมายใหม่อาจจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตใช้วัคซีนเนื่องจากต้องการป้องกันเชื้อซัลโมเนลลา เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
Nancy S. Bufano เจ้าหน้าที่อีกรายของ USFDA กล่าวว่า ทั้งๆที่ในสหราชอาณาจักรการใช้วัคซีนต้านเชื้อซัลโมเนลลาประสบความสำเร็จ แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ คาดว่าวัคซีนของ 2 ประเทศจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเริ่มใช้วัคซีนตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากพบผู้ป่วย 14,771 รายจากการติดเชื้อ Salmonella Enteritidis PT4 และต่อมาปี 2541 ผู้ผลิตไข่เริ่มใช้วัคซีนกันมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากห้างซูเปอร์มาร์เก็ตจะเลือกรับซื้อไข่จากผู้ผลิตที่มีประตับตราสิงโตแดงเท่านั้น ซึ่งบ่งบอกว่ามีมาตรฐานพื้นฐาน ทำให้ผู้ป่วยจากโรคนี้ลดลงทุกปีหลังจากนั้น และเมื่อปี 2552 ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สาธารณสุข (HPA) ของอังกฤษและเวลส์ ระบุว่ามีผู้ป่วยเพียง 581 ราย ลดลง 96% จากปี 2540 ในขณะที่ USFDA ระบุว่าสหรัฐฯ มีผู้ป่วยจากการบริโภคไข่ปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา 142,000 รายต่อปี และคาดว่ากฎหมายใหม่จะช่วยลดการป่วยดังกล่าวได้มากกว่า 50%
ที่มา : New York Times