TH EN
A A A

ญี่ปุ่น-สหรัฐเปิดเจรจาเรื่องเนื้อวัวอีกครั้ง

2 August 2553   
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ญี่ปุ่นตัดสินใจจะเปิดเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเปิดตลาดเนื้อวัวนำเข้าจากสหรัฐฯ อีกครั้งในเดือนกันยายน 2553 หลังการเจรจาในเรื่องดังกล่าวถูกระงับไปตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2550 เมื่อปี 2546 ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ครั้งแรก หลังพบเชื้อวัวบ้าที่กรุงวอชิงตัน และเมื่อปี 2549 เริ่มอนุญาตให้นำเข้าบ้างเล็กน้อย โดยอนุญาตเฉพาะวัวที่มีอายุต่ำกว่า 21 เดือน เนื่องจากโรควัวบ้าจะไม่พบในวัวที่อายุต่ำกว่า 21 เดือน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีข้อกำหนดให้นำสมอง กระดูกสันหลัง เส้นประสาทไขสันหลัง และไขกระดูก ออกก่อนทำการส่งออก ทั้งนี้ ก่อนปี 2546 ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด โดยนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และเมื่อนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐอีกครั้งในปี 2549 ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้บริโภคบางส่วน ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า 75.2% ปฏิเสธที่จะบริโภคเนื้อวัวสหรัฐฯ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี ผู้บริโภคลดความกลัวในการบริโภคเนื้อวัวสหรัฐฯ ในปัจจุบันจึงมีการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ 496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังน้อยกว่าที่เคยนำเข้าเมื่อก่อนเกิดการระบาดของโรควัวบ้า เนื่องจากญี่ปุ่นหันไปนำเข้าเนื้อวัวจากประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย และจีน การระงับการนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่เนื่องจากมาตรฐานอาหารปลอดภัยของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ยังไม่ตรงกัน รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐฯ ตรวจเชื้อวัวบ้าในทุกๆ ซากวัว (carcass) แต่ผู้ผลิตของสหรัฐฯ มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและเป็นการเพิ่มต้นทุน เมื่อปี 2549 หลังจากที่เริ่มอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯ นาย Shigemi Oishi เจ้าของร้านอาหารชื่อดังกว่า 110 แห่งในญี่ปุ่น เริ่มเสิร์ฟเนื้อวัวจากสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า เมื่อลองชิมแล้วจะพบว่าเนื้อวัวสหรัฐฯ เป็นเนื้อที่ดีที่สุดเหมาะแก่การนำมาย่าง และยืนยันว่าเมื่อไปดูโรงชำแหละที่เมือง Denver ด้วยตนเองแล้วพบว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ แต่สหรัฐฯ เองต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อให้ญี่ปุ่นรู้ว่าเนื้อวัวสหรัฐฯ มีความปลอดภัยมากพอ ที่มา : Food Safety News

Is this article useful?