ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2549 ปรากฎข่าวและบทความในวารสารเผยแพร่ในรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียต่อต้านกุ้งที่นำเข้าจากประเทศต่างๆในเอเชีย โดยใช้คำว่า killer prawn และเรียกร้องให้ทางการออสเตรเลียพิจารณาสั่งห้ามนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ โดยในข่าวได้อ้างถึงข้อมูลการตรวจสอบกุ้งดิบนำเข้าของหน่วยงาน AQIS ว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2546 ถึงเดือนตุลาคม 2547 ได้ตรวจสอบตัวอย่างกุ้งนำเข้า จำนวน 238 ตัวอย่าง และพบว่า 60 ตัวอย่างมีเชื้อไวรัส white spot syndrome โดย 23 ตัวอย่างเป็นกุ้งจากประเทศจีน 13 ตัวอย่างเป็นกุ้งจากประเทศเวียดนาม และที่เหลือเป็นกุ้งนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนม่าร์ ปาปัวนิวกีนี และไทย ทั้งนี้ โดยเชื้อไวรัสที่พบในกุ้งดิบมี 3 ชนิด ได้แด่ White Spot Sysdrome Virus (WWSV), Taura Syndrome Virus (TSV) และ Yellowhead Virus (YHV) ทั้งนี้เชื้อไวรัสดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และจะตายด้วยการต้มให้สุก แต่ประเด็นที่อุตสาหกรรมกุ้งภายในประเทศของออสเตรเลียแสดงความกังวลคือ การที่นักตกปลาใช้กุ้งนำเข้าเป็นเหยื่อในการตกปลา ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสแพร่หลายลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกุ้งของออสเตรเลียมูลค่า $ 600 ล้าน
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประมงของออสเตรเลีย Senator Eric Abetz ได้ออกแถลงข่าวเรียกร้องให้อุตวาหกรรมกุ้งภายในออสเตรเลียลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับกุ้งนำเข้า โดยระบุว่ากระทรวงเกษตร ออสเตรเลียจะออก Draft Import Risk Analysis for Prawns ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อคิดเห็น และยืนยันว่ามาตรการการกักกันโรคกุ้งชั่วคราวที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้เข้มงวดพอที่จะป้องกันมิให้โรคกุ้งเข้ามาในออสเตรเลียได้ ทั้งนี้ การพิจารณาของทางการออสเตรเลียจะต้องมีข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ และการจะห้ามนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศโดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอไม่อาจทำได้ นอกจากนี้ ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต Woolworth ซึ่งจำหน่ายกุ้งนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากได้ออกมายืนยันว่ากุ้งนำเข้าที่วางจำหน่ายในห้างฯ ได้ผ่านการตรวจสอบตามระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าของห้างฯแล้ว และประธานสมาคมผู้นำเข้ากุ้งของออสเตรเลีย Mr.Harry Peters ได้ให้คำยืนยันว่ากุ้งนำเข้ามีความปลอดภัยและไม่เคยปรากฏว่า กุ้งดิบที่นำเข้ามากกว่า 10,000 ตัน ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดเชื้อโรคแพร่ระบาดในแหล่งน้ำของออสเตรเลีย
อนึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมขั้นปฐมและประมงของรัฐควีนส์แลนด์ ได้ออกประกาศ Disease imported prawn alert เตือนนักตกปลาไม่ให้ใช้กุ้งดิบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นเหยื่อตกปลา และไม่ทิ้งซากกุ้งลงในแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคลงสู่แหล่งน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกุ้งออสเตรเลีย
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงแคนเบอร์ร่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์