นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าภาคใต้ ได้เริ่มโค่นต้นกาแฟทิ้ง แล้วหันมาปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันทดแทนมากขึ้น เนื่องมาจากราคายางที่เพิ่มขึ้นสูงมาก และไม่มั่นใจในสถานการณ์การตลาดและราคากาแฟไทย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 เป็นต้นมา โดยคาดว่าผู้ประกอบการในประเทศจะนำเข้ากาแฟโรบัสต้าจากเวียดนามและอินโดนีเซียมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้นในปีนี้คาดว่าพื้นที่ปลูกกาแฟของไทยจะลดลงเหลือประมาณ 250,000-300,000 ไร่ จากปีที่ผ่านมาที่มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 359,000 ไร่
นายมานพ หาญเทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ไทยมีความต้องการใช้กาแฟอาราบิก้าปริมาณ 60,000-70,000 ตันต่อปี แต่สามารถผลิตได้เพียง 40,000-50,000 ตัน ทำให้ต้องนำเข้าเพื่อทดแทน ซึ่งปีนี้ไทยมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศแล้วประมาณ 1,127.38 ตัน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศในอาเซียน 97.08% รวมทั้งยังมีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป 27.4 ตัน เป็นการนำเข้าในประเทศกลุ่มอาเซียน 20.03%
อย่างไรก็ตามกาแฟไทยยังได้เปรียบในด้านคุณภาพผลผลิต ส่วนเวียดนามได้เปรียบในด้านปริมาณและความหลากหลายของเกรดกาแฟ โอกาสที่ไทยจะแข่งขันได้ ต้องใช้เน้นคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พร้อมสร้างเอกลักษณ์กาแฟไทยให้เทียบเท่ากับสากลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
โดยชาวสวนกาแฟต้องเร่งปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง ปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น กรมได้ทำสวนกาแฟต้นแบบในเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ชุมพร ระนอง รวมกว่า 20-25 แปลง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนกาแฟในพื้นที่เข้ามาศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตกาแฟที่มีประสิทธิภาพด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ