TH EN
A A A

ไทยคุมเข้มนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้ง กรมประมงหวั่นติดโรคระบาดIMNจากอินโดนีเซีย

15 February 2553   
                นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยปัญหาการแพร่ระบาดของโรคกล้ามเนื้อตายติดต่อ (Infectious myonecrosis : IMN) ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในอินโดนีเซีย เนื่องจากกุ้งที่ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงเฉลี่ย 30-70% ทำให้อินโดนีเซียมีผลผลิตกุ้งลดลงถึง 40% โดยสาเหตุที่เกิดการติดเชื้อในอินโดนีเซียเพราะมีการนำเข้ากุ้งมีชีวิตที่มีเชื้อไวรัสจากประเทศบราซิล และเกรงว่าไทยอาจเสี่ยงติดเชื้อไวรัส ดังกล่าวได้ในอนาคต เพราะปัจจุบันไทยมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งและกุ้งสดแช่เย็นจากหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย และบราซิล

                อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้โรค IMN ยังไม่พบวิธีรักษา ซึ่งหากกุ้งไทยอาจติดเชื้อไวรัสอาจส่งผลกระทบต่อการค้ากุ้งของประเทศที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 100,000 ล้านบาท ดังนั้น กรมประมงจึงวางแผนรับสถานการณ์การระบาดไว้ล่วงหน้า โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า-ขนย้ายสินค้าสัตว์น้ำ ได้แก่ ปูทะเล รวมทั้งพ่อแม่พันธุ์กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งที่นำมาแปรรูป เพิ่มจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งฟ้า กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำ โดยสินค้าที่นำเข้าประเทศทุกลอตจะต้องมีใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ (Animal Health Certificate) ที่ระบุว่า ปราศจากโรค IMN อย่างชัดเจน อีกทั้งได้ประสานไปยังกรมปศุสัตว์เพื่อออกประกาศให้โรค IMN ในกุ้งเป็น "โรคระบาด" ตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ได้

                ทั้งนี้ โรค IMN จัดเป็นโรคที่พบครั้งแรกในปี 2545 ที่บราซิลในฟาร์มกุ้งขาวแวนนาไม Litopenaeus vannamei ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของประเทศ บราซิลอย่างมาก ต่อมาในปี 2548 พบการแพร่ระบาดของโรค IMN เป็นครั้งแรกในทวีปเอเชียที่ฟาร์มกุ้งขาวแวนนาไมในอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของอินโดนีเซีย ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยโรค IMN เกิดจากเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดจากกุ้งสู่กุ้งจากการที่กุ้งกินซากกุ้งที่ปนเปื้อนเชื้อ ทั้งนี้ในทางธรรมชาติพบว่ากุ้งขาวแวนนาไมเป็นพาหนะสำคัญของไวรัสชนิดนี้ โดยแพร่กระจายเชื้อไวรัสก่อโรคไปยังกุ้งสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น L. stylirostris, Penaeus monodon และ Farfantepenaeus subtilis
 
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Is this article useful?