นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ สำนักงานอาหารและสัตวแพทย์ (FVO) หน่วยงานภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรปสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภคของสหภาพยุโรป จะส่งคณะผู้ตรวจประเมินติดตามตรวจสอบการผลิตพืชของไทยโดยปราศจากสารตกค้างและไม่มีการปนเปื้อนของศัตรูพืชติดไป ตามข้อกำหนดของอียู รวมทั้งติดตามการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรทั้งในด้านเทคนิคและวิธีตรวจรับรองไส้เดือนฝอย R.similis ในพรรณไม้น้ำที่ไทยมีมูลค่าส่งออกปีละประมาณ 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ การตรวจสอบไม้น้ำดังกล่าว จะดำเนินการตั้งแต่ฟาร์มปลูกไม้น้ำ ผู้ประกอบการและห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการควบคุมไม่ให้ไส้เดือนดังกล่าวติดไปกับพรรณไม้น้ำ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญและเข้มงวดเรื่องการปนเปื้อน รวมถึงการป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในฟาร์มผลิตพรรณไม้น้ำ ทำให้กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งแก้ปัญหา ตั้งแต่กระบวนการปลูกเพาะเลี้ยงพืชในแหล่งผลิตให้ปลอดไส้เดือนฝอย และพัฒนาเทคนิคการตรวจรับรองให้รวดเร็วได้มาตรฐานเพื่อให้พรรณไม้น้ำของไทยมีคุณภาพตรงตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนดไว้ โดยที่ผ่านมากรมฯ ใช้การตรวจแยกไส้เดือนฝอยจากรากพืชด้วยเครื่องพ่นหมอก ซึ่งต้องใช้เวลานานถึงสองวันจึงจะรู้ผลว่ามีไส้เดือนฝอยปนเปื้อนในรากพืชหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถรับรองการตรวจพืชในปริมาณมากได้
ดังนั้น กรมฯ จึงพัฒนาเทคนิคใหม่ในการตรวจสอบไส้เดือนฝอยดังกล่าวในรากพืชทดแทนเครื่องพ่นหมอก ด้วยการใช้คลื่นเสียง (อัลตราโซนิค) เป็นตัวแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืช ซึ่งความถี่ของเสียงจะไปกระทบไส้เดือนฝอยที่อยู่ในรากพืช ให้เคลื่อนที่ออกมาในเวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น อย่างไรก็ตามเทคนิคดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในการตรวจรับรองการส่งออกพรรณไม้น้ำ รวมทั้งไม้ดอกและพืชส่งออกของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น
การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือ ควบคุมและกำจัดไส้เดือนฝอยไม่ให้แพร่ระบาดในแหล่งผลิตหรือติดไปกับพืชนั้นๆ รวมทั้งตรวจรับรองฟาร์มหรือแหล่งผลิตพืชครบวงจร ซึ่งกรมฯ กำลังเร่งจัดขึ้นทะเบียนแหล่งผลิตพืชควบคุมซึ่งจะช่วยดูแลให้การปลูกพรรณไม้น้ำปราศจากการปนเปื้อนของไส้เดือนฝอยดังกล่าว