อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้ฉลากประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า (COOL) กับผลิตภัณฑ์สุกร ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรแคนาดาของผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลง โดยในปี 2552 สหรัฐฯ นำเข้าเนื้อสุกรแคนาดาลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2551 ในขณะเดียวกันนำเข้าอาหารสุกรลดลง 25% ซึ่งเป็นผลมาจากกฎระเบียบ COOL และปริมาณการผลิตสุกรแคนาดาที่ลดลง โดยสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายของสหรัฐฯ และมีเพียงรัฐสภาของสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งนี้ แคนาดาและเม็กซิโกได้ยื่นคำร้องต่อ WTO ว่า แคนาดาและเม็กซิโกอาจขอเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ต้องการจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบฉลาก COOL ของสหรัฐฯ แต่อย่างใด
ในช่วงแรกที่ประกาศบังคับใช้กฎหมายนี้ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ เลือกที่จะซื้อเฉพาะเนื้อสุกรสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบการปรับตัวโดยมีการใช้เนื้อสุกรจากแคนาดาด้วย โดยคัดแยกนำไปจำหน่ายในแหล่งที่ไม่บังคับให้ติดฉลาก COOL ได้แก่ ร้านอาหาร หรือ นำไปผลิตเป็นสินค้าแปรรูป หรือส่งออกไปยังประเทศอื่น