กระทรวงประมงอินโดนีเซียวางแผนเจรจาขอลดภาษีนำเข้าอาหารทะเลไปยังประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อขยายตลาดอาหารทะเลไปยังตะวันออกกลาง ผ่านกลุ่ม D8 ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2540 ซึ่งประกอบด้วยประเทศอิหร่าน อียิปต์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ตุรกี ไนจีเรีย ปากีสถาน มาเลเซีย ซึ่งก่อตั้งเพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรและการประมง
สินค้าทะเลส่งออกหลักของอินโดนีเซียได้แก่ ทูน่าแช่แข็งและทูน่ากระป๋อง ปลาหมึก กุ้งแช่แข็ง แครกเกอร์กุ้ง ปลานวลจันทร์ทะเล (คล้ายปลากระบอก) แช่แช็ง และปู ทั้งนี้ ประเทศในตะวันออกกลางเก็บภาษีนำเข้าอาหารทะเลสูงถึง 35-40% อาทิเช่น อิหร่านเก็บภาษีนำเข้าทูน่ากระป๋อง 40% เป็นต้น ส่งผลให้ในปี 2552 มีการส่งออกอาหารทะเลของอินโดนีเซียไปยังตะวันออกกลางเพียง 2% หรือคิดเป็นมูลค่า 52.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นาย Fedal Muhammed รัฐมนตรีกระทรวงประมงอินโดนีเซีย เผยว่า สาเหตุที่ต้องหาลู่ทางขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง เนื่องจากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญของอินโดนีเซีย มีกฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยต้องการใบรับรองทางสุขภาพ รายชื่อโลหะหนัก และสารเคมีอื่นๆ ที่มีในผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันอินโดนีเซียยังเผชิญกับการแข่งขันจากจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก
อนึ่ง อินโดนีเซียส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปถึง 70% ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12% และประเทศในตะวันออกเฉียงเหนือ 11%