นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบ IUU (การป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงานและไร้การควบคุม) ของสหภาพยุโรปว่า งบประมาณปี 2553 สำหรับการดำเนินการดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 33 ล้านบาท โดยกรมประมงได้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับกฎระเบียบนั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เพื่อรักษาการส่งออกสินค้าประมง มูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ให้ลดลงหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสินค้าประมงส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง กุ้งและผลิตภัณฑ์ หมึกสดและหมึกแปรรูป
ทั้งนี้ กรมประมง ได้ดำเนินการ 6 แนวทางหลัก ประกอบด้วย
1. การตรวจรับรองสัตว์น้ำขึ้นท่าและการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ
2. การควบคุมการทำประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU
3. การปรับปรุงสุขอนามัยเรือประมงและท่าเทียบเรือประมง
4. ตั้งศูนย์ข้อมูลตรวจสอบรับรองการจับสัตว์น้ำ ทั้งในส่วนกลางที่กรมประมง กรุงเทพฯ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 22 จังหวัดชายทะเล
5. การประชาสัมพันธ์การดำเนินการตามกฎระเบียบ IUU เพื่อให้ภาคเอกชน ได้แก่ ชาวประมง แพปลา ผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ส่งออก ได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบ IUU อย่างต่อเนื่อง
6. จัดตั้งศูนย์ประสานงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
เป้าหมายการดำเนินงาน คือ การเร่งจดทะเบียนเรือและอาชญาบัตรทำประมง 7,000 ลำ ด้วยการจัดหน่วยเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์ และให้บริการชาวประมงในพื้นที่ นอกจากนี้ ในปี 2553 มีเป้าหมายที่จะสำรวจตรวจสอบเพื่อรับรองเรือสุขอนามัยประมง 900 ลำ เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน 2553 รวมทั้งสำรวจตรวจสอบเพื่อเตรียมการรับรองท่าเทียบเรือประมง 64 ท่า ซึ่งรวมถึงท่าเรือองค์การสะพานปลา ท่าเรือเทศบาล และท่าเรือเอกชน ใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยตรวจดูจากปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่า และศักยภาพในการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือเพื่อทำการปรับปรุงในปีถัดไป