เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 หนังสือพิมพ์พนมเปญ รายงานว่า เกษตรกรกัมพูชาเรียกร้องให้รัฐบาลลดโควตาการนำเข้าสุกรจากไทย โดยอ้างว่าการนำเข้าสุกรในปริมาณมากจากไทยทำให้ราคาสุกรท้องถิ่นของกัมพูชาถูกลง และทำให้เกษตรกรจำนวนหลายร้อยคนต้องเลิกอาชีพเลี้ยงสุกรเพื่อจำหน่าย
Curtis Hundley ผู้แทนขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) ที่รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง MSME ในกัมพูชา กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทางการกัมพูชาได้เพิ่มปริมาณนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรดาผู้นำเข้าสามารถส่งสุกรเข้าไปในกัมพูชาได้ในโควตาวันละ 800 ตัว ซึ่งการเพิ่มโควตาดังกล่าว ทำให้ปริมาณสุกรนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 2,000 ตัวในปี 2550 เป็น 3 แสนตัวในปี 2551 และปีนี้ ส่งผลให้ธุรกิจฟาร์มสุกรหลายร้อยแห่งในกัมพูชาต้องปิดกิจการเพราะ สู้ปัญหาราคาสุกรตกไม่ไหว
ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากการประชุมระหว่างเกษตรกรเลี้ยงสุกรและผู้ประกอบการด้านธุรกิจฟาร์มสุกรของกัมพูชาที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 โดยที่ประชุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลลดปริมาณนำเข้าสุกรจากไทยลง 50% และเพิ่มราคาสุกรในท้องตลาด ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาระบุว่า ราคาเนื้อสุกรค้าปลีก ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2552 ในกรุงพนมเปญและรอบกรุงพนมเปญอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 3.75% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการสำนักงานผลิตภัณฑ์และสุขภาพสัตว์ของกัมพูชา แสดงความวิตกว่า ผู้ประกอบการในท้องถิ่นอาจไม่สามารถผลิตสุกรได้ในปริมาณที่ตลาดต้องการ อีกทั้งการปิดกั้นการแข่งขันทางการค้า อาจส่งผลให้สุกรมีราคาแพง เพราะฉะนั้น จึงควรนำเข้าสุกรจากไทยเพื่อรักษาราคาสุกรในตลาดให้มีเสถียรภาพ
นายเข็ม โกศล เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรชาวกัมพูชา ยอมรับว่า การนำเข้าสุกรก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องปรับระบบโควตาให้มีความยืดหยุ่น และกำหนดเพดานนำเข้ารายวันหรือรายสัปดาห์เพื่อแก้ปัญหาสุกรในตลาดขาดแคลนเป็นการชั่วคราว ขณะที่นายติง โวที เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอีกราย เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีนำเข้าสุกรรายจังหวัดในกัมพูชาตลอดจนจุดผ่านแดนทุกจุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำเข้าสุกรอย่างผิดกฎหมาย