นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่า จากการติดตามและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสุกรโดยการค้นหาโรคเชิงรุก ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน 2552 จากการเก็บตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งจากโพรงจมูกสุกร (Nasal Swab) ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 26,382 ตัวอย่าง ยังไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A H1N1 จนกระทั่งพบว่าตัวอย่างที่เก็บในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2552 จากฟาร์มสุกรสถานีวิจัยทับกวาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A H1N1 จากฟาร์มสุกรสถานีวิจัยทับกวาง 1 ตัวอย่างจากทั้งหมด 80 ตัวอย่าง ยืนยันผลวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ซึ่งปัจจุบันสุกรทุกตัวภายในฟาร์มมีอาการปกติ
จากการพบเชื้อไวรัสดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งกักสุกรทุกตัวในฟาร์ม พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทุก 3 วัน และดำเนินการทำลายเชื้อโรคในฟาร์มสุกร ตลอดจนวัสดุ อุปกรณ์ และยานพาหนะเข้า-ออกฟาร์ม และเฝ้าระวังโรคในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบฟาร์ม พร้อมทั้งลาดตระเวนตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสุกรอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับมาตรการป้องกันโรคทั่วประเทศนั้น กรมปศุสัตว์ยังคงเข้มงวดในมาตรการตรวจสอบสัตว์นำเข้าอย่างเข้มงวด โดยต้องเป็นสัตว์ที่สัตวแพทย์ประเทศต้นทางรับรองว่าปลอดโรคและไม่มีอาการป่วยขณะนำเข้า ห้ามผู้มีอาการหวัด ไอ จาม เข้าฟาร์มและคอกเลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด และขอความร่วมมือ อย่าใกล้ชิดหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงทุกชนิด โดยเฉพาะสุกร สุนัข แมว สัตว์ฟันแทะ และสัตว์ปีก อีกทั้งยังเข้มงวดเรื่องห้ามเลี้ยงสุกรปะปนกับสัตว์อื่น โดยเฉพาะสัตว์ปีก
ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A H1N1 ในสุกรในต่างประเทศ สาเหตุส่วนใหญ่ติดจากคน ซึ่งในแต่ละประเทศใช้มาตรการควบคุมโรคในสุกร โดยกักกันสุกรและเฝ้าดูอาการ เมื่อสุกรหายป่วยแล้ว ให้ฆ่าและบริโภคได้ ทั้งนี้ ทางวิชาการ สุกรที่แสดงอาการป่วยจะหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน และตรวจไม่พบเชื้อในตัวสุกรดังกล่าว ขณะเดียวกันองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ยืนยันว่า สุกรที่หายป่วยจากโรคดังกล่าว สามารถส่งเข้าโรงฆ่าสุกร เพื่อบริโภคได้
ดังนั้นมาตรการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการในขณะนี้ จึงถือเป็นมาตรการที่เข้มงวดและปลอดภัย เพื่อมิให้เชื้อแพร่กระจายจากสุกรไปสู่สุกร และจากสุกรไปสู่คน ถึงแม้ว่ายังไม่มีหลักฐานการติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนก็ตาม ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าได้วิตกกังวล สามารถบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็มิได้ตื่นตระหนกต่อเรื่องดังกล่าวนี้
ท้ายที่สุดนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสุกรที่ป่วยด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจให้ไปพบแพทย์และห้ามเข้าเลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด หากพบสุกรแสดงอาการป่วยดังกล่าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที รวมทั้งไม่เลี้ยงสุกรร่วมกับสัตว์อื่น โดยเฉพาะสัตว์ปีก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่อาจติดต่อระหว่างกันได้ ซึ่งอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ส่งผลให้เกิดเชื้อที่รุนแรงและเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งใหญ่ของโรคดังกล่าวได้
ที่มา : กรมปศุสัตว์