TH EN
A A A

เอกชนผวา AFTA กุ้งนอกทะลัก

11 December 2552   
                นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ภายหลังเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยจะลดภาษีสินค้ากุ้งเหลือ 0% นั้น อาจมีกุ้งด้อยคุณภาพและราคาต่ำจากประเทศอาเซียนเข้ามาตีตลาดไทยและอาจปลอมปนกับกุ้งไทยเพื่อส่งออกไปประเทศที่สาม จึงอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์กุ้งไทยได้

                ปัจจุบัน ผู้นำเข้ากุ้งให้ความสำคัญเรื่องการปนเปื้อน สารตกค้างระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการออกมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ที่ผ่านมากุ้งไทยได้รับการยอมรับจากตลาดโลกในด้านมาตรฐาน คุณภาพ รัฐบาลจึงควรวางมาตรการตรวจสอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำกุ้งเข้ามาปลอมปนเพื่อการส่งออก

                แม้ว่าปีนี้ตลาดหลักของไทย เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จะนำเข้ากุ้งลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ไทยยังสามารถส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ได้มากขึ้น เพราะกุ้งไทยมีคุณภาพประกอบกับกุ้งของอินโดนีเซียเสียหายมากถึง 20% จากการระบาดของโรคก้ามพรุน ทำให้ทุกตลาดหันมาซื้อจากไทยจึงดึงราคากุ้งในประเทศให้สูงขึ้น รัฐบาลจึงไม่ควรปล่อยให้ AFTA ส่งผลกระทบจนกุ้งไทยหมดความเชื่อมั่น

                ในปีนี้มีผลผลิตกุ้งไทยประมาณ 5.4 แสนตัน คาดว่าทั้งปีจะส่งออกได้ 3.8 แสนตันเพิ่มขึ้น 10% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 12% โดยการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2552 มีปริมาณ 320,855  ตัน มูลค่า 77,132 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2553 คาดว่าจะส่งออกได้ 3.8 แสนตัน จากผลผลิต 5.4 แสนตัน โดยสมาคมจะขอความร่วมมือกับสมาชิกไม่ให้ขยายพื้นที่ฟาร์มเพิ่ม เพื่อรักษาระดับราคาเอาไว้ ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มความต้องการในปี 2553 จะเพิ่มขึ้น สหรัฐฯ มีท่าทีจะยกเลิกภาษีทุ่มตลาดให้กับไทย ตลาดสหภาพยุโรปยังขยายได้อย่างต่อเนื่องและอินโดนีเซียคงไม่ฟื้นตัว ทำให้หลายประเทศยังสั่งซื้อสินค้าจากไทย แต่การส่งออกกุ้งไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงการเปิด AFTA อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

Is this article useful?