องค์การการค้าโลก (WTO) จัดตั้งคณะไต่สวน (Panel) เพื่อยุติข้อขัดแย้งที่แคนาดาร้องเรียนเรื่องการติดฉลากแสดงประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า (COOL) ของสหรัฐฯ ตามคำร้องขอของแคนาดาที่ให้จัดตั้งคณะกรรมการ โดยแคนาดาเคยร้องขอไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแต่สหรัฐฯได้คัดค้านไว้ ซึ่งการคัดค้านจะทำได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น
รัฐบาลของแคนาดายืนยันว่าการติดฉลาก COOL นั้นถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้านการจัดแบ่งสัตว์และเนื้อสัตว์ตามประเทศแหล่งกำเนิด ทำให้ผู้ประกอบการไม่ซื้อเนื้อสัตว์ของแคนาดา ยกเว้นกรณีที่เนื้อสัตว์ดังกล่าวอยู่ในช่วงลดราคา ดังนั้น การติดฉลาก COOL ทำให้แคนาดาเสียผลประโยชน์ในการแข่งขัน อีกทั้งสหรัฐฯ นำเข้าปศุสัตว์จากแคนาดาลดลง 34% ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่ง Stockwell Day รัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศแคนาดา ยืนยันว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้สหรัฐฯยกเลิกฉลากดังกล่าว ในขณะที่ สหรัฐฯถือว่า การติดฉลากดังกล่าวเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ WTO
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ออกข้อปฎิบัติฉลาก COOL และบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ภายใต้ Farm Bill 2008 ซึ่งกำหนดให้ติดฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดสำหรับเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อสุกร เนื้อไก่ เนื้อแพะ และ ถั่ว ทั้งสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯและ สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ การไต่สวนของ WTO ครั้งนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 9 เดือน