สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EFSA) ลดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน (Acceptable daily: ADI) ของสี Southampton 3 ชนิด อย่างไรก็ตาม ผลทางวิทยาศาสตร์ที่พบกลับไม่เชื่อมโยงกับโรคสมาธิสั้น (Hyperactivity) ในเด็ก
เมื่อเดือนกันยายน 2550 รายงานของ The Lancet พบว่า สีผสมอาหารสังเคราะห์ 6 ชนิด หรือที่เรียกว่า สี Southampton ซึ่งได้แก่ สีแดง Allura red (E128), สีแดงเข้ม Ponceau 4R (E124), สีเหลือง Quinoline yellow (E104), สีเหลืองส้ม Sunset yellow (E110), สีเหลือง Tartrazine (E102) และสีแดง Azorubine/Carmoisine (E122) และสาร Sodium Benzoate นั้นเชื่อมโยงกับโรคสมาธิสั้นในเด็ก อย่างไรก็ดี จากการทวนสอบของ EFSA กลับไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า สี Southampton ทั้ง 6 ชนิด เชื่อมโยงกับโรคสมาธิสั้นในเด็ก และยังเห็นว่า การวิจัยของ The Lancet ไม่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อเปลี่ยนค่า ADI ของสีข้างต้นได้เพราะ วิธีการวิเคราะห์ที่ระบุไว้ไม่สามารถทำให้ได้ผลลัพธ์ที่กล่าวไว้
อย่างไรก็ตาม EFSA พบหลักฐานด้านพิษวิทยาอื่นๆในหนูทดลองของสีผสมอาหารที่ให้สีเหลือง ได้แก่ สี Quinoline yellow, Ponceau 4R และ Sunset yellow โดยได้ระบุค่า ADI ใหม่ของสีทั้ง 3 ชนิด ดังนี้
สี Quinoline yellow ลดค่า ADI เป็น 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน(mg/kgbw/day) จากเดิม 0-10 mg/kg bw/day เนื่องจากพบปัญหาระยะยาวทางด้านระบบสืบพันธุ์ และการพัฒนาของตัวอ่อน
สี Ponceau 4R ลดค่า ADI เป็น 0.7 mg/kg bw/day จากเดิม 0-4 mg/kg bw/day เนื่องจาก ผลการศึกษาในหนูทดลองในปี 2517 พบว่า เชื่อมโยงกับโรคไตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (non-inflammatory kidney disease)
สี Sunset yellow ลดค่า ADI เป็น 1.0 mg/kg bw/day จากเดิม 0-2.25 mg/kg bw/day เนื่องจากพบว่า มีผลกระทบบางอย่างกับหนูทดลอง อย่างไรก็ตาม ค่า ADI สำหรับ สี Sunset yellow นั้นเป็นค่าชั่วคราวสำหรับ 2 ปี เท่านั้น
ทั้งนี้ การศึกษาของ EFSA ยังพบว่า สีอีก 3 ชนิดที่เหลืออาจทำให้ผิวอักเสบ แต่ผลกระทบไม่ร้ายแรงพอที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อเปลี่ยนค่า ADI ได้
แม้ว่า EFSA ยังคงไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงกับโรคสมาธิสั้น แต่จะยังคงบังคับให้ติดฉลากเตือนเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นบนผลิตภัณฑ์ที่มีสี Southampton เป็นส่วนประกอบ ในเดือนกรกฎาคม 2553 ต่อไป ซึ่งรัฐสภายุโรปจะรวมการบังคับติดฉลากดังกล่าวในระเบียบของสารปรุงแต่งอาหารฉบับใหม่