TH EN
A A A

ไทยหนุนออกปฏิญญา‘สำรองข้าว’ อาเซียน+3

26 October 2552   
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจ (สศก.) กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน+3 ในวันที่ 23-25 ตุลาคม 2552 นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเสนอประเด็นการบูรณาการความมั่นคงของอาหารและพลังงาน ในส่วนของภาคการเกษตรจะเสนอให้สมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาสนับสนุนการสำรองข้าวเป็นการถาวร ให้เป็นผลปฏิบัติสามารถจัดตั้งได้ภายในเดือนมีนาคม 2553 โครงการสำรองข้าวถาวรดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมาแล้วเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ช่วยเหลือสมาชิกประสบภัยพิบัติหรือเกิดเหตุฉุกเฉินไม่เกี่ยวข้องกับการค้าเชิงพาณิชย์ โดยจะสานต่อจากโครงการสำรองข้าวถาวร จะต้องมีระเบียบปฏิบัติขึ้นมารองรับ นอกจากนี้ โครงการถาวรจะต้องมีแหล่งเงิน มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติประจำอยู่ ในส่วนของแหล่งเงินที่ประชุมอาเซียน เห็นชอบกำหนดเป็นกองทุน โดยที่ 10 ประเทศสมาชิกเป็นผู้บริจาคตามสัดส่วน ที่คำนวณจากอัตราส่วนรายได้หัวของประเทศ (GDP) เช่น สิงคโปร์ บรูไนจะต้องบริจาคมาก แม้ว่าจะไม่มีการปลูกข้าวเลยก็ตาม ลาว พม่าจะบริจาคลดลงตามอัตราส่วน ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศอาเซียน +3 จะต้องบริจาคด้วย ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งโครงการจะเสนอขอเงินบริจาค จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลกด้วยคาดว่าโครงการนี้จะใช้วงเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 50,000 – 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หากสามารถหาเงินบริจาคได้ถึง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ กองทุนจะสามารถใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นำดอกผลทั้งหมดมาบริหารโครงการได้โดยที่ไม่ต้องเก็บเงินเพิ่มจากสมาชิกอีกในครั้งต่อไป ซึ่งน่าจะทำได้เพราะการบริหารโครงการนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก นายมณฑล กล่าวว่า การสำรองข้าวเพื่อช่วยเหลือประชากรในอาเซียน + นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การสำรองข้าวตามคำมั่นว่าจะหาข้าวเพื่อขายในราคามิตรภาพได้ตามจำนวนที่ระบุไว้แต่ต้น และรวดเร็ว เมื่อยามที่เกิดภัยพิบัติขึ้นกับประเทศสมาชิก โดยไทยให้คำมั่นไว้ 15,000 ตัน เวียดนาม 10,000 ตัน ญี่ปุ่น 250,000 ตัน และจีน 200,000 ตัน เป็นต้น ที่ผ่านมามีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่บริจาคได้จริง และ 2. การสำรองข้าวเพื่อการฉุกเฉิน กำหนดให้เป็นการบริจาคตามที่แต่ละประเทศกำหนดเอาไว้แต่ต้นว่าจะดำเนินการได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่เกิดภัยพิบัติ โดยข้าวจำนวนนี้แต่ละประเทศจะต้องมีสต๊อกการันตีเอาไว้ ในอนาคตอาจมีการสร้างไซโล เพื่อรักษาคุณภาพข้าว ทั้งหมดนี้ที่ประชุมอาเซียน +3 จะต้องหารือร่วมกัน เพื่อตั้งคณะกรรมการโครงการสำรองข้าวถาวรประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 16 คน คณะกรรมการชุดนี้จะจัดรายการดำเนินการทุกด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

Is this article useful?