สถาบันอาหารแนะผู้ส่งออกปรับตัวรับมาตรการ Food Defense ของสหรัฐฯ ป้องกันการก่อการร้ายผ่านทางอาหาร ชี้ระบบสร้างมาตรการอาหารป้องกันอาหารให้มีความปลอดภัยจากการปนเปื้อนโดยเจตนา
นาย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารเปิดเผยว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ วันที่ 11 กันยายน 2544 รวมถึงการก่อการร้ายทางชีวภาพด้วยทำให้สหรัฐฯเตรียมรับมือและเพิ่มมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันภัยจากการก่อการร้ายมากขึ้น โดยให้ความสนใจกับการก่อการร้ายผ่านทางอาหารมากเป็นพิเศษ
สหรัฐฯออกกฎหมายที่ว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางแหล่งอาหารของสหรัฐฯ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการต่างๆเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าอาหารทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีความปลอดภัยปราศจากอันตรายจากชีวภาพ เคมี กายภาพ และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่ผู้ก่อการร้ายอาจใช้เป็นอาวุธ ในการโจมตีสหรัฐฯได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆและมีค่าใช้จ่ายในการส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้พัฒนาระบบการควบคุมความปลอดภัยทางอาหารใหม่ขึ้น เพื่อป้องกันการก่อการร้ายผ่านทางอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันอาหารให้มีความปลอดภัยจากการปนเปื้อนโดยเจตนา ซึ่งแตกต่างจาก Food Safety ที่ป้องกันให้อาหารปลอดภัยจากการปนเปื้อนโดยไม่ได้เจตนา ซึ่งระบบ Food Defense นี้ใช้เพื่อเป็นการป้องกันและตอบโต้ภัยคุกคามทางด้านอาหารในระบบห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร อย่างไรก็ตามระบบนี้ ยังไม่ได้เป็นมาตรการที่กฎหมายบังคับใช้ แต่ผู้ประกอบการก็มีความสมัครใจที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า
จากรายงานการประชุม APEC FOOD DEFENSE PILOT PROJECT เมื่อเดือนมีนาคม 2552 พบว่า โรงงานผลิตเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนกว่า 5,000 แห่ง มีการจัดทำระบบ Food Defense ถึง 2,005 แห่ง หรือประมาณ 40% ของโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ทั้งหมด นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ มีมาตรการป้องกันการก่อการร้ายที่ผ่านทางอาหารด้วยเช่นกัน เช่น สหภาพยุโรป กลุ่มเอเปคได้ศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน