นาย ประมวล รักษ์ใจ หัวหน้าท่าเรือประมงภูเก็ตระบุว่า ในช่วงปลายปี 2551 ถึง ปัจจุบันท่าเรือภูเก็ตมีอัตราการเทียบท่าของเรือประมงทูน่าลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้
สาเหตุที่มีการเทียบท่าของเรือประมงทูน่าลดลงนั้น เกิดจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาค่อนข้างสูง รวมไปถึงการแข่งขันของท่าเทียบเรือในประเทศใกล้เคียง อย่างเช่น มาเลเซีย และศรีลังกา อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2552 ตั้งแต่เดือนตุลาตมเป็นต้นไป ราคาน้ำมันจะลดลง ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือมีบริการไว้ จึงคาดว่าเรือประมงทูน่าจะย้ายกลับมาเทียบท่าที่ภูเก็ตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางของการขนถ่าย
สำหรับการที่เรือประมงทูน่ามาเทียบท่าที่ภูเก็ต ทำให้มีปลาทูน่าเข้าออกในปริมาณถึง 3,000 ตัน และคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 5,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานแปรรูปทูน่าเกิดขึ้น 5-6 โรง ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การจับจ่ายซื้ออาหารเครื่องอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในภูเก็ตมากขึ้น จึงนับว่าเป็นผลดีและประโยชน์ต่อภูเก็ตเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละครั้งที่เรือประมงทูน่าเข้ามาในช่วง 6 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท