นายพุทธ ส่องแสงจินดา หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง เปิดเผยในการสัมมนาเรื่อง GAP Plus: เครื่องมือในการแข่งขันเพื่อฝ่าฟันสู่ตลาดโลกว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกุ้งไทยมากยิ่งขึ้น ได้ปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือจีเอพีใหม่ (GAP plus) เบื้องต้นร่างมาตรฐานนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร คาดว่าจะประกาศใช้เดือนกันยายน 2552
ร่างมาตรฐานใหม่ประกอบด้วยหลักการปฏิบัติที่ดี 5 ด้าน คือ การปฏิบัติที่ดีด้านอาหารปลอดภัยและคุณภาพผลผลิต ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติที่ดีด้านสวัสดิภาพและสุขภาพสัตว์ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและครอบคลุมความหลากหลายทางชีวภาพ ถิ่นที่อยู่และระบบนิเวศน์ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ผลกระทบต่อคุณภาพดินและอากาศ โดยต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยง น้ำทิ้งและตะกอนต้องได้รับการบำบัด
ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเลี้ยงกุ้งต้องเป็นประโยชน์ต่อคนงานท้องถิ่นและประเทศ มีส่วนร่วมในการแก้ไขความยากจนและความมั่นคงด้านอาหาร ด้านการปฏิบัติที่ดีด้านสวัสดิภาพและสุขภาพสัตว์ผู้เลี้ยงต้องมั่นใจว่ากุ้งได้รับการจัดการที่ดี ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ฟาร์มต้องมีการจดบันทึกข้อมูลเพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ผู้นำเข้ากุ้งของไทยระบุว่า ไทยมีการเลี้ยงที่หนาแน่นเกินไป ต้องใช้ยาและสารเคมีในการให้กุ้งอยู่รอด ในการปรับปรุงร่างมาตรฐานใหม่นี้จึงกำลังกำหนดปริมาณการเลี้ยงกุ้งต่อบ่อ หากพบมีสารตกค้าง กรมประมงจะไม่ออกใบรับรองให้