TH EN
A A A

กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นวางระเบียบใหม่ในการประมูลและจำหน่ายข้าวนำเข้า

19 November 2551   
              
ตามระเบียบและข้อกำหนดนำเข้าของญี่ปุ่น ข้าวที่มีสิ่งเจือปนและสารตกค้างเกินกำหนดจะถูกปฏิเสธ และส่งคืนกลับประเทศที่ส่งออก อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการตรวจพบภายหลังว่าข้าวที่เก็บในสต็อกมีเชื้อราสารพิษหรือสารตกค้างเกินระดับ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ญี่ปุ่น (MAFF) อาจนำออกขายโดยระบุให้ผู้ค้าสัญญาว่าจะไม่นำข้าวนั้นไปจำหน่ายเพื่อบริโภคหรือแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร แต่เมื่อเดือน กันยายน 2551 กลับพบว่า บริษัท Mikasa Foods ได้นำข้าวที่มีสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลง methamidophos ไปปลอมปนและจำหน่ายเป็นข้าวเพื่อบริโภค ข้าวนี้ได้ขายไปยังอุตสาหกรรมผลิตสาเก ขนมหวานและจำหน่ายให้แก่โรงเรียน สถานบริการคนชรา แม้ว่าจะไม่ถึงกับทำให้ผู้บริโภคเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความหวาดวิตกต่อผู้บริโภค ทำให้กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นต้องเคลื่อนไหว โดยได้จัดหารือ ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องข้าว กับผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และตัวแทนกลุ่มผู้บริโภค เพื่อเร่งวางมาตรการป้องกัน และเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด รวมทั้งกำลังเตรียมปรับกฎหมาย Law for Stabilization of Supply, Demand and Prices of Staple Food ต่อรัฐสภาต้นปีหน้า

             ในการประมูลขายข้าวของรัฐบาลญี่ปุ่นให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศเมื่อวันที่ 30 กันยายน นี้ MAFF ได้อนุญาตเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ข้าว (rice users) เข้าร่วมประมูล เปลี่ยนจากเดิมที่ให้ผู้ค้าข้าว (consigned distributor) เข้าร่วมประมูลด้วย พร้อมกับได้ประกาศนโยบายใหม่ว่า  เริ่มตั้งแต่ตุลาคมนี้ MAFF จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาล และรายชื่ออุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวจากการประมูล เพื่อป้องกันการนำข้าวประมูลไปขายผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนี้กำลังพิจารณาให้ปิดสลากประเทศที่เป็นแหล่งผลิตข้าว และมาตรการอื่นๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของข้าวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษผู้ทำผิด ซึ่งในมุมมองของผู้ค้าและอุตสาหกรรมเห็นว่า ในภาวะที่ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในอาหารที่นำเข้า การให้ปิดชื่อแหล่งผลิตอาจจะไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม และได้ร่วมมือกันเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการที่ประกาศ

               ในงบประมาณ 2551 (เมษายน 2551-มีนาคม 2552) ญี่ปุ่นเปิดประมูลนำเข้าข้าวไปเพียง 1 ครั้ง และประมูลเฉพาะข้าว General Import (สำหรับอุตสาหกรรม) โดยได้ทำสัญญาซื้อเพียง 41,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวไทย 15,000 ตัน และจนขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่า MAFF จะเปิดประมูลนำเข้าข้าวเพิ่มเติมเพื่อให้ครบตามข้อผูกพันของ WTO ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นว่า ผลผลิตข้าวปี 2551 ในพื้นที่ 37 จังหวัดมีผลผิตเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งคาดว่ากระทรวงเกษตรฯ จะรับซื้อข้าวส่วนเกินจำนวนหนึ่งเก็บเข้าสต็อกเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาตกต่ำ การที่ปริมาณข้าวในนประเทศผลิตได้เพิ่ม และการเปิดประมูลนำเข้าที่ล่าช้าออกไป จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าอุตสาหกรรมแปรรูปจากข้าว บางส่วน อาจจะหันมาใช้ข้าวในประเทศทดแทนข้าวนำเข้า และเป็นเหตุให้ราคาข้าวในญี่ปุ่นผันผวน

                ญี่ปุ่นเริ่มเปิดตลาดให้นำเข้าข้าวมาตั้งแต่ปี 2538 ตามความตกลงที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก หรือ WTO และนับตั้งแต่ 1 เมษายน 2542  รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงระบบการนำเข้าข้าวที่เปิดเสรีมากขึ้นจากระบบโควต้า มาเป็นระบบโควต้าภาษี โดยให้นำเข้าภายใต้โควต้าปีละ 682,000 ตัน โดยไม่ต้องเสียภาษี ส่วนเกินสามารถนำเข้าได้โดยเสียภาษีในอัตรากิโลกรัมละ 341 เยน 

               ข้าวที่ญี่ปุ่นนำเข้าแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ (1.)การนำเข้าทั่วไป หรือ General Import (GI) เป็นข้าวส่วนที่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม (For Industrial Use) เช่น อุตสาหกรรมผลิตสาเก มิโซ ขนมอบกรอบ และเพื่อเป็นข้าวสำรอง ข้าวส่วนนี้มรปริมาณ 582,000 ตันข้าวสารต่อปี (2.)ข้าวเพื่อการบริโภค หรือ Table Rice  กำหนดปริมาณที่ให้นำเข้าปีละ 100,000 ตัน ซึ่งประเทศไทยส่งออกข้าวเพื่อการใช้ทั้งเพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรม และข้าวหอมมะลิ สำหรับการใช้ในภัตตาคารและจำหน่ายปลีกเพื่อการบริโภค โดยรวมเฉลี่ยประมาณ 160,000 – 200,000 ตันต่อปี

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

Is this article useful?