กรมวิชาการเกษตรเตือนเร่งศึกษาเงื่อนไขสินค้าเกษตรไปสหภาพยุโรป หลังจากสหภาพยุโรปคุมเข้มสารตกค้างในผักผลไม้ ขณะเดียวกันทบทวนแปลง GAP ต่อเกษตรกรผลิตเพื่อส่งออก
นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 สหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ (EC) no 396/2005 โดย 27 ประเทศสมาชิกจะใช้ค่ากำหนดในกฎหมายนี้เป็นค่าเดียวกันทั้งหมด ก่อนกฎหมายบังคับใช้สารเคมีมากกว่า 900 ชนิดที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ทางการเกษตร แต่ภายใต้กฎหมายใหม่จะมีสารเคมีที่ถูกยกเลิก 587 ชนิด โดย 110 ชนิดที่ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดชนิดและค่าปริมาณตกค้างสูงสุดหรือ MRL ร่วมกันได้แล้ว และอีก 269 ชนิดอยู่ระหว่างการทบทวน และคาดว่าอีก 100 ชนิดจะผ่านการพิจารณา ส่งผลให้จำนวนสารเคมีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรปในการเกษตรมี 300 ชนิด สารเคมีที่ไม่อยู่ในรายการที่สหภาพยุโรปกำหนดจะยึด 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเป็นมาตรฐาน
ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปสหภาพยุโรปต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งชนิดพืช ชนิดสารเคมี ค่าปริมาณตกค้างที่กำหนดเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการส่งออกและเกษตรกรสามารถปรับตัวได้ โดยทบทวนแนะนำการทำแปลง GAP ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด และอาจมีการทบทวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จะมีการเจรจา Import torelances สำหรับชนิดสารเคมีที่เกษตรกรไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่อยู่ในรายการอนุญาตซึ่งเป็นกระบวนการที่สหภาพยุโรปเปิดโอกาสให้ทำได้หากสามารถเสนอข้อมูลที่ชัดเจนสนับสนุน
ที่มา : พิมพ์ไทย