TH EN
A A A

แอลเบเนียออกข้อบังคับการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์อาหาร เริ่มบังคับใช้ปี 2569

10 June 2568   

            แอลเบเนียออกข้อบังคับใหม่สำหรับการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้านอาหารและให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของข้อบังคับฉบับใหม่ มีดังนี้
            Article 1 1) ข้อบังคับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยกำหนดให้มี “ล็อต (lots)” ที่ประกอบด้วยตัวอักษรหรือตัวเลขใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำล็อต เพื่อให้หน่วยงานสามารถติดตามและตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                          2) ล็อต หมายถึง ปริมาณที่สามารถระบุได้ของผลิตภัณฑ์อาหารที่จัดส่งพร้อมกัน รวมถึงผลิตและแปรรูป หรือบรรจุภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
            Article 2 ผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายต้องระบุ “รหัสล็อต” บนฉลากด้วยตัวอักษร L และตามด้วยชุดตัวเลขหรืออักษรที่แสดงเวลาและสถานที่ผลิต แปรรูป หรือบรรจุสินค้า โดยมีข้อยกเว้น ดังนี้  
                          1)    ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลังออกจากฟาร์ม: กรณีที่มีการจำหน่ายหรือขนส่งไปยังสถานที่จัดเก็บชั่วคราว และสถานที่เตรียมหรือบรรจุชั่วคราว รวมถึงการขนส่งไปยังองค์กรผู้ผลิต หรือรวบรวมเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเตรียมหรือแปรรูปทันที
                          2)    จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง: กรณีที่ผลิตภัณฑ์ไม่ได้บรรจุล่วงหน้า, บรรจุตามคำขอของผู้ซื้อ และบรรจุเพื่อจำหน่ายทันที
                          3)    บรรจุภัณฑ์ที่ด้านใหญ่สุดมีพื้นที่น้อยกว่า 10 ตารางเซนติเมตร
                          4)    ไอศกรีมที่แบ่งขายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ต้องระบุรหัสล็อตไว้บนบรรจุภัณฑ์รวม
            Article 3 รหัสล็อตต้องถูกกำหนดโดยผู้ผลิต ผู้บรรจุ หรือผู้จำหน่ายรายแรกในแอลเบเนียเท่านั้น
            Article 4 ในกรณีของผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุไว้ล่วงหน้าต้องแสดงรหัสล็อต โดยตัวอักษร L จะต้องปรากฎบนบรรจุภัณฑ์หรือฉลากอย่างเหมาะสม หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ติดไว้ที่เอกสารทางการค้าที่แนบมาพร้อมสินค้า ทั้งนี้ ต้องติดให้มองเห็น อ่านได้ชัดเจน และไม่หลุดออกง่าย
            Article 5 ไม่ต้องระบุรหัสล็อต หากบนฉลากระบุ “วันหมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” โดยวันที่ต้องประกอบด้วยตัวเลขหรือข้อความที่แสดงวันและเดือนอย่างชัดเจน เรียงลำดับตามความเหมาะสม
            Article 6 ผลิตภัณฑ์อาหารที่ติดฉลากก่อนวันบังคับใช้ สามารถวางจำหน่ายได้จนกว่าสินค้าจะหมด โดยสำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งชาติจะทำหน้าที่บันทึกปริมาณสต็อกสินค้า
            Article 7 กรมพัฒนาความปลอดภัยอาหาร สัตว์แพทย์ คุ้มครองพันธุ์พืชและการประมง ร่วมกับสำนักงานด้านอาหารแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการบังคับใช้ข้อกำหนดนี้ 
   

            ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปแอลเบเนีย มูลค่ากว่า 439 ล้านบาท ผู้ประกอบการควรศึกษาและเตรียมพร้อมต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการค้าต่อไป 

 

 

 

ที่มา : CNA  สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?