TH EN
A A A

อาหารใหม่ (Novel food) คืออะไร

30 May 2561   

อาหารใหม่ (Novel food) คืออะไร

ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561

      อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด และจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 โดยให้ประเทศมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) โดยมีหลักคิดหนึ่งที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม หรือกล่าวได้ว่ามุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า 
      จากนโยนบายไทยแลนด์ 4.0 มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหรือนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์การอาหาร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ขึ้นมา โดยปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม หรือคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมาย โดยมีความแปลกใหม่ มีความน่าสนใจและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากการปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความใหม่มากๆ อาจมีผลต่อความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการบริโภคของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือนักวิจัยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะทดลองซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่มาบริโภค เกิดการซื้อซ้ำ และบอกต่อจนทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นประสบความสำเร็จในด้านการตลาดได้
      ในปัจจุบันนี้เราจึงมีโอกาสจะได้ยินคำว่า “อาหารใหม่” กันมากขึ้น แท้จริงแล้ว “อาหารใหม่คืออะไร” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้
            1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการ ว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี
            2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ 
            3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ
      ทั้งนี้อาหารใหม่ในประกาศฉบับนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม
      จากความหมายของอาหารใหม่จะเห็นว่า การพิจารณาว่าอาหารนั้นจะเป็นอาหารใหม่หรือไม่ ให้ความสำคัญกับระยะเวลาการมีประวัติการนำมาบริโภคเป็นอาหารและการใช้กระบวนการผลิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น เช่น กรณีนำแมลงชนิดที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการด้านประวัติการบริโภคเป็นอาหารหรือมีหลักฐานการบริโภคในระยะเวลาน้อยกว่า 15 ปี จะจัดได้ว่าแมลงชนิดนั้นเป็นอาหารใหม่ได้ หรือกรณีการผลิตอาหารโดยใช้กระบวนการผลิตนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) ซึ่งไม่ใช่กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมของอาหารชนิดนั้น ที่ส่งผลให้ส่วนประกอบของอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีขนาดอนุภาคเล็กลงกว่าอาหารที่ได้จากกระบวนการผลิตเดิม ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร จะจัดได้ว่าเป็นอาหารใหม่ได้
      เนื่องจากอาหารใหม่อาจมีโอกาสเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภคได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งต่างประเทศและในประเทศ จึงพยายามกวดขันและกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนการนำออกจำหน่าย หน่วยงานต้นแบบหนึ่งที่ก่อตั้งในต่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริโภค สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีหน่วยงานรับประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่ 1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ 3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะสามารถดำเนินการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เพื่อประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะสามารถบริโภคอาหารใหม่นั้นได้อย่างปลอดภัย เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน 
      การมีมาตรการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยดังกล่าว น่าจะมีข้อดีทั้งสำหรับในมุมมองของผู้บริโภคที่จะมั่นใจในการซื้ออาหารใหม่มาบริโภค และสำหรับในมุมมองของอุตสาหกรรมอาหารที่จะมั่นใจในการยอมรับผลิตภัณฑ์ มีความภูมิใจและช่วยยกระดับให้ผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นสากล และมีโอกาสช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยอาหารชนิดใหม่ได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต

TAGS : novel food