TH EN
A A A

Sibutramine สารอันตรายในกาเเฟลดความอ้วน

17 January 2562   

 Sibutramine สารอันตรายในกาเเฟลดความอ้วน

 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 

                คำบรรยายสรรพคุณ "ลดน้ำหนัก ลดหุ่น ลดความอ้วน" สามารถต้องตาต้องใจผู้บริโภคได้เสมอด้วยกระเเสของสื่อที่โหมกระพือให้ภาพลักษณ์ "ผอมเพรียว" เป็นเป้าหมายของผู้ต้องการสร้าเสริมความมั่นใจให้ตนเอง แต่ในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์อาหารหรือยาที่มีคุณสมบัติลดความอ้วนหลายรายการ ประกอบด้วยตัวยาควบคุมพิเศษ หรือสารต้องห้ามที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังเช่นสาร "ไซบูทรามีน" ที่เป็นประเด็นที่สังคมเริ่มจับตาตั้งเเต่ปี 2553 จากการที่มีผู้บริโภคยาลดความอ้วนที่ผสมสารดังกล่าวเเล้วหัวใจวายเฉียบพลัน

อันตรายของสารไซฐูทรามีน

               ไซบูทรามีน (Sibutramine) มีการผลิตเพื่อวางจำหน่ายเป็นครั้งเเรกในปี 2545 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยในประเทศไทยการนำเข้าและจำหน่ายอย่างถูกกฏหมายในชื่อทางการค้า Reductil มีขนาดบริโภค 10 และ 15 มิลลิกรัมต่อวัน มีผลข้างเคียงในการเกิดโยโย่เอฟเฟ็กต์และภาวะนอนไม่หลับต่ำ ตัวยาไซบูทรามีนใช้ในการควบคุมน้ำหนักร่วมกับโปรเเกรมควบคุมน้ำหนักในผู้มีดัชนีมวลกายตั้งเเต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมากกว่า 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ที่มีปัจจัยเสี่ยงเบาหวานหรือไขมันในโลหิตสูง และก่อนหน้านี้องค์การเภสัชกรรมได้จัดให้เป็นยา "ควบคุมพิเศษ" ซึ่งต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้สั่งจ่ายยาในสถานที่ที่มีใบอนุญาตจำหน่าย ยาควบคุมพิเศษนอกเหนือไปจากยาอันตรายทั่วไปจนกระทั่งในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) ได้ออกประกาศเตือนว่ายาไซบูทรามีนมีผลทำให้เพิ่มอัตราการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองเเตกและหัวใจหยุดเต้น ทำให้หลายประเทศได้พร้อมใจยกเลิกตัวยาดังกล่าวจากการวางตลาดเพราะตระหนักถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

กาเเฟลดความอ้วน "ลักลอบ" ผสมไซบูทรามีน

               สำหรับผลิตภัณฑ์กาเเฟลดน้ำหนัก ที่มีการจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มักมีการผสมสารที่กระตุ้นการทำงานระบบเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันในร่างกาย เช่น เเอล-คาร์นิทีน หรือเติมใยอาหารในปริมาณที่สูงขึ้น และใช้นำ้ตาลเทียม ที่มีความหวานสูงแต่ให้พลังงานต่ำ เเต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีกาเเฟลดน้ำหนักที่ลักลอบเติมตัวยาควบคุมหรือสารต้องห้าม เช่น เติมสารกลุ่ม Diuretics ที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ หรือ ผสมสารไซบูทรามีนโดยไม่มีเลขสาระบบอาหารกำกับ

                จากการสำรวจพื้นที่จำหน่ายอาหารและตลาดนัดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า มีตัวอย่างกาเเฟและอาหารเสริมประเภทเเคปซูลที่โฆษณาสรรพคุณในการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งไม่ได้รับการรับรองเลขทะเบียนมาตรฐาน อย. มีการผสมสารไซฐูทรามีน โดยไม่ได้ระบุปริมาณสารออกฤทธิ์ ทั้งยังมีการผสมสารอื่นๆ เช่น ฟีนอล์ฟธาลีน และไม่มีการติดฉลากเป็นภาษาไทย ผลิตภัณ์ดังกล่าวจะถูกซื้อโดยผู้บริโภคที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และต้องการ "สรรพคุณ" ที่โฆษณา โดยขาดความตระหนักถึงอันตรายจากการบริโภค ซึ่งอาจเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์กาเเฟลดความอ้วนดังกล่าวถูกส่งในลักษณะพัสดุภัณฑ์ส่วนบุคคลไปยังประเทศเยอรมนี ซึ่งกฎระเบียบของสหภาพยุโรปนั้นห้ามการใช้เเละนำเข้าสาร Sibutramine ทำให้สินค้าดังกล่าวถูกเเจ้งเตือนเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยที่นำเข้าจากประเทศไทยถึง 8 ครั้งแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะในด้านข้อกฎหมายสินค้าเกษตรและอาหารของผู้บริโภคการส่งสินค้าดังกล่าวเเม้จะมีปริมาณน้อยเต่ก็อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้อย่างคาดไม่ถึง

                เเม่้การห้ามใช้สารไซบูทรามีนทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณะรัฐแอฟริกาใต้อาจตัดช่องทางผู้ผลิตจำหน่ายรายใหญ่ที่ถูกกฎหมายและเเม้ว่าในประเทศไทยผู้ผลิตจำหน่ายสายไซบูทรามีนสำหรับใช้ทางการเเพทย์ทั่วประเทศจะสมัครใจเรียกคืนยาดังกล่าวตั้งเเต่ปี 2553 ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวไม่นาน เเต่ในเมื่อมีความต้องการผู้บริโภค โดยเฉพาะค่านิยม "สวย ผอม เพรียว" ก็ยังคงทำให้มีการนำเข้าหรือลักลอบผลิตเพื่อใช้ผสมทั้งในอาหาร อาหารเสริม และยา ที่อ้างสรรพคุณ "ลดความอ้วน" อย่างต่อเนื่อง การสร้างความตระหนักต่อจากค่านิยมและกระเเสสื่อจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการคุ้มครองผู้บริโภค

 

  ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงบรัสเซลส์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเว็ตไซต์ OKnatis

Photo Albums