เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เรื่องการระบาดของภาวะอาหารเป็นพิษที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วย 34 ราย โดยมี 5 ใน 34 รายต้องเข้าห้องไอซียู ซึ่งต่อมา 1 ใน 5 อาการเริ่มดีขึ้นย้ายออกไปอยู่ห้องทั่วไปได้แต่อีก 4 รายอาการยังอยู่ในขั้นโคม่าเนื่องจากตับถูกทำลายอย่างรุนแรงและแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรงและมีความเห็นว่า 2 รายมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ
จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยทั้งหมดรับประทานก๋วยเตี๋ยวผัดที่ร้านอาหารมาเลย์ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในกรุงไทเป โดย 29 รายรับประทานที่สาขาเดียวกันส่วนที่เหลือรับประทานที่สาขาอื่น ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นทำให้ทางการไต้หวันสั่งปิดทุกสาขาของร้านอาหารดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะพบสาเหตุที่แท้จริงและวิธีแก้ไขซึ่งผลการสอบสวนโรคโดยสรุปพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษคือกรด Bongkrek หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Bongkrekic ซึ่งผลิตโดยเชื้อแบคทีเรียชื่อ Burkholderia gladioli pathovar cocovenenans โดยเส้นก๋วยเตี๋ยวอาจจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ เมื่อเก็บรักษาไม่ถูกต้องเชื้อจึงเจริญและผลิตสารพิษดังกล่าว การระบาดครั้งนี้เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ในผู้บริโภคไต้หวัน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการเกิดการระบาดของภาวะอาหารเป็นพิษที่รุนแรงในระดับนี้มาก่อน
เชื้อ Burkholderia gladioli เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการเกษตรมานานแล้ว เนื่องจากทำให้เกิดโรคกับหัวกลาดิโอลัส หัวหอม และ ไอรีส มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์โรค (pathovar) แต่สายพันธุ์โรค cocovenenans นี้กระทรวงเกษตรไต้หวันแจ้งว่าไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศไต้หวัน ดังนั้นจึงยังเป็นปริศนาอยู่ว่ามันมาจากไหน?
อันที่จริงแล้ว การระบาดของภาวะอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia gladioli pathovar cocovenenans ในประเทศไต้หวันครั้งนี้มิใช่อุบัติการณ์ใหม่ของโลก มีการบันทึกการเกิดโรคครั้งแรกไว้โดยชาวดัตช์เมื่อ 129 ปีที่แล้วที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดจากการบริโภคอาหารพื้นถิ่นที่เรียกกันว่า tempe Bongkrek ซึ่งทำจากกากมะพร้าวที่เหลือจากการคั้นกะทินำมาอัดเป็นแผ่นแล้วหมักด้วยเชื้อราชื่อ Rhizopus oligosporus โดยปกติแล้วชาวอินโดนีเซียจะบริโภค tempe ที่ทำจากถั่วเหลืองหมักกับเชื้อราดังกล่าวเป็นหลัก แต่ในหมู่ประชากรที่มีฐานะไม่สู้ดีนักไม่สามารถซื้อหาถั่วเหลืองได้ก็จะใช้กากมะพร้าวที่เหลือจากการคั้นกะทิมาใช้หมักแทน ซึ่งในกระบวนการหมักนั้นถ้าทำไม่ถูกสุขลักษณะก็มีโอกาสสูงที่จะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซึ่งสร้างกรด Bongkrek ประมาณว่าระหว่างปีพ.ศ. 2518 ถึงพ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยเนื่องจากการบริโภค tempe Bongkrek กว่า 3,000 รายในประเทศอินโดนีเซีย และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 60 เปอร์เซนต์ ความรุนแรงของสถานการณ์ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียได้สั่งห้ามผลิต tempe Bongkrek ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาแต่ก็ยังมีการลักลอบผลิตอยู่เสมอมา
ในประเทศสาธารณประชาชนจีนก็มีรายงานการระบาดของภาวะอาหารเป็นพิษจากเนื่องจากกรด Bongkrek เช่นกัน โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2490 เป็นต้นมามีผู้ป่วยจากสารพิษชนิดนี้ประมาณ 9,000 ราย และเสียชีวิตไปมากกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการบริโภคอาหารที่ทำจากข้าวโพดหรือแป้งข้าวโพดหมักและเห็ดหูหนูขาวและเห็ดหูหนูดำที่แช่น้ำไว้เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งบางครั้งอาหารเหล่านี้เก็บไว้เป็นเวลานานจนอาจเริ่มเสียแล้ว และที่น่าตระหนกไม่แพ้กันคือในปีพ.ศ. 2558 มีรายงานจากประเทศโมซัมบิก ทวีปแอฟริกาว่ามีผู้ป่วย 230 รายซึ่งในจำนวนนี้ 75 รายเสียชีวิตเนื่องจากดื่มเบียร์ที่ทำจากแป้งมิลเลตและแป้งข้าวโพดหมัก และผลการสอบสวนโรคพบว่าเชื้อ Burkholderia gladioli pathovar cocovenenans และกรด Bongkrek ในเบียร์ดังกล่าวเป็นสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ และคณะผู้สอบสวนโรคสรุปในรายงานว่าเป็นการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อ Burkholderia gladioli pathovar cocovenenans และกรด Bongkrek ครั้งแรกนอกทวีปเอเชีย และมีความเป็นไปได้ว่าเชื้อนี้อาจก่อให้เกิดปัญหามาแล้วทั่วโลกแต่ไม่ถูกตรวจพบ มีข้อสังเกตว่าอุบัติการณ์อาหารเป็นพิษที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มิได้เกิดขึ้นบ่อยเหมือนเชื้อชนิดอื่นๆที่รู้จักกันดี เช่น Salmonella E. coli Vibrio Shigella หรือ Listeria แต่การเกิดแต่ละครั้งมักจะเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงและกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากสารพิษนี้ทำลายตับ สมองและไต อย่างรวดเร็วและยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง
ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบเชื้อ Burkholderia gladioli เช่นกัน แต่เป็นสายพันธุ์โรค (pathovar) gladioli ซึ่งทำให้เกิดโรคกับกล้วยไม้ ส่วนสายพันธุ์โรค cocovenenans ที่สามารถสร้างกรด Bongkrek นั้นยังไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศไทย (not known to occur) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี (known not to occur) ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศโมซัมบิกและไต้หวัน ดังนั้นประชาชนทั่วไปจึงควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการเลือกบริโภค เตรียมและเก็บรักษาวัตถุดิบ และเก็บรักษาอาหารที่ทำจากแป้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งแป้งข้าวโพดหมักรวมถึงอาหารที่มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบอย่างถูกวิธี เช่นเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส และไม่ควรแช่เห็ดหูหนูไว้นานเกิน 48 ชั่วโมง เป็นต้น
ที่มา : มกอช.