ไข้หวัดนกสายพันธุ์ Highly Pathogenic Avian Influenza A (H5N1) Virus เป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดของสัตว์ปีกในปัจจุบัน ที่ระบาดไปทั่วโลกและทำความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศต่าง ๆ ที่มีการเกิดโรคชนิดนี้ขึ้น ในประเทศไทยเกิดการระบาดทั้งสิ้น 5 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2547 - 2551 ซึ่งขณะนั้นต้องกำจัดเป็ดและไก่จำนวนหลายล้านตัว และยังทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งเนื้อไก่สดไปยังตลาดสำคัญ เช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึงปี 2555
ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้น คือ การสูญเสียชีวิตของผู้คน โดยประเทศไทยรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนกว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 25 รายและเสียชีวิต 17 ราย หรือ 68% ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีการติดเชื้อในคนใน 23 ประเทศ รวม 889 ราย และเสียชีวิต 463 ราย หรือประมาณ 52% โดยเป็นการติดเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คน ยกเว้นหนึ่งกรณีในประเทศไทยที่คณะแพทย์สันนิษฐานจากหลักฐานทางสภาพแวดล้อมว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คนเป็นรายแรกของโลก
การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีนกป่าและนกอพยพเป็นพาหะ ซึ่งการระบาดไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ปีกเท่านั้น เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคในสัตว์ชนิดอื่นอีกหลายร้อยชนิดโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 48 ชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์บก สัตว์ทะเล สัตว์เลี้ยงในบ้าน ในฟาร์ม และสัตว์ป่า เช่น แมว สุนัขจิ้งจอก หมี มิ้งค์ แพะ วัว แมวน้ำและสิงโตทะเล เป็นต้น โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะแสดงอาการรุนแรงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ เช่น ในกรณีของแมวน้ำและสิงโตทะเล มีรายงานว่ามีแมวน้ำตายกว่า 300 ตัวที่ชายฝั่งนิวอิงค์แลนด์ในสหรัฐอเมริกา แต่ในเปรูและชิลีโรคนี้ได้คร่าชีวิตของสิงโตทะเลไปกว่า 20,000 ตัว และการระบาดของโรคนี้ในฟาร์มมิ้งค์ที่สเปนทำให้ต้องกำจัดมิ้งค์ทิ้งทั้งฟาร์มกว่า 50,000 ตัว เป็นต้น
ในสหรัฐอเมริกา มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 มาตั้งแต่ปี 2565 มีสัตว์ปีกตายไปราว 82 ล้านตัว ต่อมามีรายงานจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “พบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ดังกล่าวในฟาร์มวัวนมในรัฐเท็กซัสและแคนซัส” และล่าสุดพบว่ามีไข้หวัดนกระบาดอยู่ในฟาร์มวัวนมรวมทั้งสิ้น 46 ฟาร์ม ใน 9 รัฐ ซึ่งวัวที่ติดเชื้อบางตัวไม่แสดงอาการ บางตัวแสดงอาการซึม มีสารคัดหลั่ง กินอาหารน้อยลง และให้นมน้อยลง และจะหายได้เองภายในเวลา 7 - 10 วัน แต่ที่สำคัญคือ “มีเชื้อไข้หวัดนกอยู่ในนมของแม่วัวที่ติดเชื้อด้วย” นอกจากนี้ ยังพบแมวตายในฟาร์มวัวนมและตรวจพบว่ามีเชื้อไข้หวัดนกอยู่ในตัว คาดว่าติดเชื้อไข้หวัดนกจากแม่วัว และพบผู้ติดเชื้อหนึ่งรายทำงานอยู่ในฟาร์มวัวนมแสดงอาการป่วยเพียงเล็กน้อย
นอกจากจะพบการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มวัวนมแล้ว ทางการสหรัฐฯ ยังตรวจพบชิ้นส่วนของไวรัส H5N1 ในนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์แล้วด้วย ซึ่งทำให้กระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยาสหรัฐ (USDA และ USFDA) ต้องเร่งให้ทั้งความรู้แก่สาธารณชนเรื่องอันตรายและวิธีป้องกันตนเองจากไข้หวัดนก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่านมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์นั้นปลอดภัยแน่นอน และดำเนินมาตรการป้องกันมิให้นมจากแม่วัวที่ติดเชื้อหลุดเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานนมที่วางจำหน่าย ในขณะเดียวกันก็พยายามจำกัดมิให้โรคระบาดขยายวงต่อไปอีก
ในการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคว่าระบบควบคุมความปลอดภัยอาหารของรัฐเชื่อถือได้ และนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์นั้นปลอดภัยแน่นอนนั้น องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้แถลงล่าสุดเมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2567 ว่าผลการตรวจสินค้านม 297 ตัวอย่าง จากร้านค้าปลีกทั่วประเทศนั้นพบชิ้นส่วนไวรัสที่ไม่สามารถทำให้เกิดโรค (non-infectious fragments) ใน 20% ของตัวอย่าง และผลการปลูกเชื้อในไข่ไก่เป็นลบ ซึ่งเป็นการยืนยันว่ามีการติดเชื้อไข้หวัดนกในแม่วัวจริง และกระบวนการพาสเจอไรซ์นมนั้นมีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (และเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ) ได้อย่างแน่นอน และย้ำว่า “ประชาชนไม่ควรบริโภคนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์เพราะมีความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อจากนมได้”
สวนทางกับข่าวการระบาดของโรคและคำเตือนขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ยอดการจำหน่ายน้ำนมดิบกลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งไม่มีรายงานการเกิดโรคนี้ โดยผู้บริโภคให้เหตุผลว่าน้ำนมดิบมีรสชาติและคุณค่าทางอาหารสูงกว่าน้ำนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ เนื่องจากกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ซึ่งใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ นั้น ทำให้โครงสร้างของโปรตีนบางชนิดเปลี่ยนแปลงไป และยังมีผู้บริโภคบางรายที่แสดงความต้องการบริโภคน้ำนมดิบจากแม่วัวที่ติดเชื้อไข้หวัดนกอีกด้วย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อโรค ซึ่งทางการก็ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่มีแนวความคิดเช่นนี้ว่ากำลังนำตัวเข้าไปเสี่ยงกับอันตรายโดยไม่จำเป็น
ทางด้านผู้ผลิตน้ำนมดิบเพื่อจำหน่ายโดยไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ก็ได้แถลงว่า ในกระบวนการผลิต ผู้ผลิตเข้มงวดอย่างที่สุดทางด้านสุขอนามัยของแม่วัวและการเก็บรักษาน้ำนมที่อุณหภูมิต่ำ เนื่องจากตระหนักเป็นอย่างดีถึงความเสี่ยงที่มีอยู่ ไม่เหมือนกับผู้ผลิตนมที่เข้าสู่กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งผู้ผลิตไม่ค่อยให้ความสนใจมากนักเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจาก มีกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์เป็นหลักประกันความปลอดภัย
ในส่วนของประเทศไทยนั้นไม่มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว แต่ก็มีรายงานการระบาดของโรคนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในแถบเอเชีย เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็มีความตื่นตัวและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความเป็นไปได้ที่การระบาดในประเทศใกล้เคียงจะล้นเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากนกป่าและนกอพยพซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรคนี้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามฤดูกาล ที่สำคัญคือนอกจากสัตว์ปีกจะมีโอกาสติดเชื้อแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดรวมถึงสัตว์ให้นม เช่น วัวและแพะก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ด้วย ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อไข้หวัดนกในวัวและแพะในประเทศไทยก็ตาม
สำหรับสินค้านมที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดในประเทศไทยนั้นมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ด้วยกันคือ นมพาสเจอร์ไรซ์ และนมยูเอชที ซึ่งแตกต่างกันที่อุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อในน้ำนมดิบ โดยนมพาสเจอร์ไรซ์ใช้อุณหภูมิ 72 องศาเซลเซียส นาน 15 วินาที ส่วนนมยูเอชทีนั้นใช้อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียส นาน 4 วินาที ซึ่งนมทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันที่อายุการเก็บ รสชาติ และสารอาหาร นมพาสเจอร์ไรซ์สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิเหมาะสมได้นานกว่า 3 สัปดาห์ มีรสชาติดีกว่า และมีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ส่วนนมยูเอชทีนั้นสามารถเก็บไว้ได้นานกว่ามากแต่มีรสชาติด้อยกว่า โปรตีนบางชนิดหายไป และไม่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ทั้งนี้ หากนมทั้งสองกลุ่มผ่านการกรรมวิธีฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง มีวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้อง และบริโภคภายในเวลาที่กำหนด ก็เชื่อได้ว่าปลอดภัยแน่นอน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการวางจำหน่ายสินค้านมที่ไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง หรือในกรณีที่ผู้บริโภคเจาะจงที่จะบริโภคน้ำนมดิบ ซึ่งในกรณีหลังก็คงต้องย้ำเตือนว่าเป็นการนำตัวเข้าไปเสี่ยงกับอันตรายโดยไม่จำเป็น
ที่มา: มกอช.