TH EN
A A A

ระวัง!! น้ำผึ้งขม

7 February 2567   

                    “น้ำผึ้ง” เป็นอาหารธรรมชาติที่ผึ้งผลิตขึ้นจากน้ำหวานจากพืช (nectar) และน้ำหวานจากแมลง (honeydew) มีองค์ประกอบทางเคมีค่อนข้างซับซ้อนและหลากหลาย ขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง ชนิดของดอกไม้ ชนิดของแมลงที่ผลิต honeydew สภาพภูมิอากาศ แหล่งกำเนิด ฤดูการผลิต ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทั่วโลกถึงมีการผลิตน้ำผึ้งเป็นการค้าไม่น้อยกว่า 300 ชนิด
                    น้ำผึ้ง จัดเป็นยาพื้นบ้านที่สำคัญชนิดหนึ่งที่มีหลักฐานตั้งแต่สมัยโบราณกว่าสี่พันปีว่ามีการใช้น้ำผึ้งในการรักษาโรคหลายโรค เช่น หวัด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร และใช้สมานแผล เป็นต้น โดยผลงานวิจัยในระยะหลัง ๆ ยังได้ระบุถึงคุณประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพว่าน้ำผึ้งมีฤทธิ์ทางด้านการต่อต้านเนื้องอก ต่อต้านการอักเสบ ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ดูแลหัวใจและตับ ต่อต้านเบาหวาน ต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดความดัน
                    เมื่อนำน้ำผึ้งมาวิเคราะห์ทางเคมี พบว่า องค์ประกอบส่วนใหญ่มากกว่า 80 เปอร์เซนต์ คือ น้ำตาล โดยมีมากถึง 4 ชนิด ได้แก่ กลูโคส ฟรุคโตส มอลโตส และซูโครส แถมยังยังมีกรดอะมิโนและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น น้ำผึ้งส่วนใหญ่จึงมีรสหวานและมีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ที่ผึ้งไปเก็บน้ำหวานมา เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไยที่เรารู้จักกันดี
                    นอกจากนี้ ยังมีน้ำผึ้งอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็น “น้ำผึ้งพิษ” โดยน้ำผึ้งชนิดนี้มีลักษณะสีเหลืองอำพันไปจนถึงแดงเข้ม รสชาติหวานปนขม หรือบางครั้งหวานอมเปรี้ยว เป็นน้ำผึ้งที่ผึ้งผลิตได้จากดอกไม้ในสกุล Rhododendron Pieris Agarista และ Kalmia ซึ่งอยู่ในวงศ์ Ericaceae โดยพืชในสกุลดังกล่าวหลายชนิด โดยเฉพาะสกุล Rhododendron เช่น R. ponticum R. luteum R. flavum และ R. ferrugineum ถือเป็นแหล่งผลิตสารพิษในกลุ่ม Grayanotoxins ซึ่งเป็นกลุ่มสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการหลอนรูปแบบต่าง ๆ มึนงง น้ำลายไหล อาเจียน เป็นลม ไปจนถึงความดันเลือดตก จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่บริโภคเข้าไป ด้วยเหตุนี้ น้ำผึ้งกลุ่มนี้จึงได้รับการเรียกขานในหมู่ผู้นิยมบริโภคว่า “น้ำผึ้งบ้า (mad honey)” หรือ “น้ำผึ้งเมา” 
                    ปัจจุบัน มีการผลิตน้ำผึ้งบ้าทางการค้าเพื่อใช้ในการรักษาโรคแบบดั้งเดิม และเพื่อการสันทนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเนปาลที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่ส่งน้ำผึ้งบ้าออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก และพื้นที่แถบทะเลดำของประเทศตุรกี ซึ่งบริเวณที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วย Rhododendron หลากหลายชนิด และถึงแม้ว่าบางประเทศ เช่น เกาหลี ออสเตรเลีย อินเดีย และบราซิล จะสั่งห้ามนำเข้า “น้ำผึ้งบ้า” แล้ว แต่ยังคงพบผู้ป่วยจากการบริโภคน้ำผึ้งชนิดนี้อยู่เสมอ นั่นหมายความว่ายังคงมีการลักลอบขายน้ำผึ้งบ้าในตลาดมืดภายในประเทศเหล่านั้นอยู่ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้มีการอนุญาตให้จำหน่ายน้ำผึ้งบ้าได้ โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ โดยสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 120 ดอลลาร์ต่อ 300 กรัม
                    ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 45 ถึง 65 ปี คาดว่าอาจจะเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อที่ว่าหนึ่งในสรรพคุณของน้ำผึ้งบ้าคือ สามารถเพิ่มพูนสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย
                    เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ความปลอดภัยอาหารของฮ่องกงได้มีการแจ้งเตือนผู้บริโภคอีกครั้ง (หลังจากได้แจ้งเตือนมาหลายครั้งแล้ว) ว่าให้ระมัดระวังการบริโภคน้ำผึ้งที่มีรสขม หลังจากพบผู้ป่วยที่มีอาการถูกพิษ Grayanotoxins และมีประวัติบริโภคน้ำผึ้งที่มีผู้ส่งมาให้จากเนปาล และยังเตือนผู้เดินทางไปประเทศเนปาลให้ระมัดระวังการซื้อและบริโภคน้ำผึ้งจากร้านค้าสินค้าพื้นเมือง อนึ่ง ทางการฮ่องกงเริ่มออกคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2557
                    ในปี 2566 สำนักงานความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) ซึ่งได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการบริโภคน้ำผึ้งที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษในกลุ่ม Grayanotoxins ได้รายงานผลการวิเคราะห์ตอนหนึ่งว่า “ระดับค่าความปลอดภัยของสารพิษกลุ่มนี้คือ ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมในน้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม” และหนึ่งในคำแนะนำคือ “ให้ทุกประเทศสมาชิกเริ่มตรวจติดตามการปนเปื้อนของสารพิษดังกล่าวในน้ำผึ้งที่ผลิตจากดอก Rhododendron เช่น น้ำผึ้งจากแถบเทือกเขา Alps และ Pyrenees และน้ำผึ้งนำเข้าจากแหล่งผลิตที่มีดอกไม้ชนิดดังกล่าวเป็นจำนวนมาก”
                    สำหรับประเทศไทย ยังคงไม่ปรากฎชัดเจนว่ามีการรายงานถึงผู้ป่วยที่เกิดจากสารพิษดังกล่าวบ้างหรือไม่ แต่ก็พบว่ามีการนำเข้าน้ำผึ้งบ้าจากประเทศเนปาลผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนจะนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ใดนั้นก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเช่นกัน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังไว้ก่อน เนื่องจาก การบริโภคน้ำผึ้งบ้า “อาจทำให้ ผู้บริโภคบางกลุ่มเสียชีวิตได้”

 

ที่มา : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) สรุปโดย : มกอช.