TH EN
A A A

การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยเหยื่อพิษ

3 October 2566   

                    ประจำเดือนตุลาคม 2566

                    เหยื่อที่ใช้ล่อแมลงวันผลไม้เป็นวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ (กากเบียร์หรือยีนส์ออโตไลเซท มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้อาศัยหลักการพื้นฐานทางด้านชีววิทยาของแมลงวันผลไม้ เมื่อออกจากดักแด้ใหม่ๆ จะมีความต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อใช้ในการอวัยวะสืบพันธุ์และการวางไข่ ดังนั้นการใช้อาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างยีนส์ออโตไลเซท แล้วนำมาผสมกับสารฆ่าแมลง (เหยื่อพิษ) พ่นทิ้งไว้บนใบพืชจึงเป็นการล่อให้แมลงผลไม้มากินและตายในที่สุด 
การพ่นเหยื่อพิษแบ่งออกเป็น 2 วิธี
1. การพ่นเหยื่อพิษแบบเป็นจุด (Spot Treatment) พ่นบนพืชต้นละ 1-4 จุด จุดละ 30 มิลลิลิตร ในเวลาเช้าตรู่ทุกๆ 5-7 วัน จุดที่พ่นเหยื่อควรเป็นจุดที่ร่มเงาและไม่ถูกแสงแดดจัด และเริ่มพ่นก่อนทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน 
2. การพ่นเหยื่อพิษแบบเป็นแถบ (Strip Treatment) มักใช้เครื่องยนต์พ่นสารติดตั้งบนยานพาหนะวิ่งบนแปลง โดยจัดวางระดับการพ่นเหยื่อไว้ในระดับคงที่ประมาณสายตาหรือกลางทรงพุ่มของพืชพ่นทุก 5-7 วัน แต่ละแถวอาจพ่นเหยื่อพิษไว้ 1-2 แถบ แต่ควรเป็นด้านตรงข้ามกัน
หลักเกณฑ์ในการพ่นเหยื่อพิษ
1. ต้องพ่นเหยื่อพิษในเวลาเช้าตรู่ เพราะเป็นช่วงที่แมลงวันผลไม้ออกหาอาหาร 
2. ระยะเวลาในการพ่น 3-7 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก 
3. ควรเริ่มพ่นเหยื่อพิษก่อนแมลงวันผลไม้เข้าทำลายผลผลิต 2 สัปดาห์
4. สารฆ่าแมลงที่ผสมกับเหยื่อโปรตีนควรเป็นสารฆ่าแมลงที่ออกฤทธิ์เร็ว และคงฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 7 วัน 
5. การพ่นเหยื่อพิษแบบเป็นจุด ควรพ่นด้านใต้ใบเพื่อป้องกันการชะล้างของฝน และจำนวนจุดที่พ่นยิ่งมากยิ่งได้ผลดี
6. การพ่นเหยื่อพิษไม่จำเป็นต้องพ่นเฉพาะพืชที่ปลูกหลักเท่านั้น อาจพ่นในพืชอื่นๆ หรือวัชพืชในบริเวณแปลงปลูกก็ได้ เพราะบางครั้งแมลงวันผลไม้อาศัยพืชอื่นๆในการหลบซ่อน การพ่นเหยื่อพิษบนพืชอื่นจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เหยื่อพิษให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น 
7. เมื่อพบปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักมากขึ้น ให้พ่นเหยื่อพิษถี่ขึ้น เช่น เลื่อนจากทุก 7 วัน เป็นทุก 4-5 วัน เป็นต้น

 

อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร