เพลี้ยแป้งลำไย
ประจำเดือนกรกฏาคม 2566
ชื่อวิทยาศาสตร์: เพลี้ยแป้งแปซิฟิค (Planococcus minor)
เพลี้ยแป้งลาย (Ferrisia virgata)
วงศ์: Pseudococciidae
อันดับ: Hemiptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เพลี้ยแป้งลำไยเป็นแมลงปากดูดเคลื่อนไหวช้า อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆของพืช เช่น ใบ ยอด ตา และผล และปล่อยน้ำหวานออกมาซึ่งเป็นแหล่งอาหารของราดำจึงเกิดราดำ เพลี้ยแป้งที่เกาะตามผล และก้านผล จะทำให้คุณภาพของผลผลิตลำไยลดลง ไม่สามารถจำหน่ายเป็นผลสด และอาจถูกระงับการส่งออกหากตรวจพบ
การป้องกันกำจัด
1. ควรใช้วิธีผสมผสาน โดยใช้วิธีกลเป็นหลัก หากพบน้อยให้ตัดส่วนที่มีเพลี้ยแป้งไปทำลาย เพื่อไม่ให้กระจายออกไป ควรกำจัดมดที่เป็นพาหะเคลื่อนย้ายเพลี้ยแป้งและวัชพืชที่เป็นพาหะหลบซ่อน
2. หากพบการระบาดไม่รุนแรงให้พ่นน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง
3. หากพบการระบาดรุนแรงควรใช้สารกำจัดแมลงอัตราการใช้ฉลาก (ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ชนิดนั้นๆ)
- ไวท์ออยล์/ปิโตรเลียมออยล์ ใช้ได้เฉพาะตัวอ่อนเท่านั้น และไม่ควรพ่นในช่วงที่มีแสงแดดจัด
- คาร์บาริล, ไตรอะไซฟอส, อิมีดาโครพริด*, อะเซททามิพริด*,ไทอะมีโทแซม*, ไพมีโทรซีน, ไทอะมีโทแซม (4A)+ แลมป์ดาไซฮาโลทริน (3A)
*ข้อจำกัด มีพิษร้ายแรงต่อผึ้ง ไม่ควรพ่นในช่วงดอกบาน และเมื่อต้องการการผสมเกสรเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งพ่นตามใบ ดอก ยอดและผล หากพบการระบาดให้พ่นสารทุก 5-7 วัน/ครั้ง จนกว่าการระบาดลดลง หยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน และไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเกิดความต้านทาน หากพบการระบาดด้านใดด้านหนึ่งของแปลง ควรป้องกันโดยพ่นสารทั่วทั้งแปลง
4. หลีกเลี่ยงการพ่นสารกำจัดแมลง สูตรน้ำมันเข้มข้น (EC) กับใบพืชดอกและผลอ่อนของลำไย ในช่วงฤดูแล้งเพราะอาจทำให้พืชเกิดอาการไหม้ จากแดดเผาเนื่องจากไปลดไขมัน (wax) ที่เคลือบผิวใบ
อ้างอิงข้อมูล : http://www.sakaeo.doae.go.th/site/?p=3323