TH EN
A A A

ความรู้เรื่อง "ลำไย"

27 July 2565   

ความรู้เรื่อง
"ลำไย"

ประจำเดือนสิงหาคม 2565

ลำไย ( Longan )

             มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Dimocarpus longan  เเละ มีชื่อเรียกทางพื้นบ้านภาคเหนือว่า "บ่าลำไย" ชื่อภาษาอังกฤษว่า Longan อยู่ในวงศ์ Sapindaceae เป็นพืชไม้ผลเขตร้อนและกึ่งร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ สีขาวครีม ผลทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกสีน้ำตาลล้วน เนื้อลำไยสีขาวหรือชมพูอ่อน เมล็ดสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ด

สรรพคุณ

  ► ใบ : รักษาริดสีดวงทวาร แก้ไข้มาลาเรีย หรือหากใครมีอาการหวัด ก็สามารถนำใบลำไย 10-15 กรัมมาต้มน้ำดื่มเป็นน้ำชา จิบแก้หวัดได้เหมือนกัน

  ► ราก : ช่วยรักษาอาการช้ำใน แก้อาการตกขาว และช่วยขับพยาธิเส้นด้าย

  ► ดอก : สามารถแก้นิ่ว และลดหนองได้

  ► เนื้อ : ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ใจสั่น บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท หรือหากนำเนื้อลำไยตากแห้ง 14 ชิ้น และขิง 3 แผ่น มาหั่นบาง ๆ แล้ว ต้มกินรวมกันก็จะช่วยรักษาอาการท้องเสียได้ ส่วนใครที่มีปัญหาร่างกายอ่อนแอ ในตำรับยาของแพทย์แผนไทยก็บอกให้นำเนื้อลำไยจำนวนพอประมาณมาดองเหล้าประมาณ 100 วัน แล้วทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือนำเนื้อลำไยแห้ง 10 กรัม มาผสมกับถั่วลิสง 15 กรัม แล้วนำไปต้มน้ำกิน ก็จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เพราะลำไยมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงร่างกาย

  ► เปลือก : แก้มึน ทำให้ตาสว่าง และลดรอยแผลเป็นในบริเวณที่น้ำร้อนลวกได้

  ►  เมล็ด : แก้ปวด ขับปัสสาวะ โดยนำเมล็ดลำไยที่นำเปลือกสีดำออกแล้วมาทุบ แล้วนำไปต้มกิน นอกจากนี้ยังช่วยห้ามเลือด รักษาอาการกลาก โดยแกะเปลือกสีดำของเมล็ดลำไยออกแล้วใช้เมล็ดลำไยไปถูกับน้ำส้มสายชู มาทาบริเวณที่เป็นแผล ขณะเดียวกันหากนำเมล็ดลำไยที่คั่วแห้งแล้ว มาบดเป็นผง แล้วชงน้ำกินครั้งละ 15-20 กรัม ก็จะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและอาการลำไส้อักเสบได้

ประโยชน์

     1. ยับยั้งสารก่อมะเร็ง

              รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ อาจารย์จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยผลวิจัยที่ได้นำเนื้อลำไยอบแห้งไปทดลองแล้วพบว่า เนื้อลำไยอบแห้งมีฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อยีน หรืออธิบายง่าย ๆ ว่าสารในเนื้อลำไยอบแห้งมีสรรพคุณต้านพิษในสารก่อมะเร็งได้ โดยการวิจัยได้นำเอาสารก่อมะเร็งจากอาหารปิ้งย่าง อาหารทอดด้วยความร้อนสูง และควันบุหรี่ มาผสมกับสารสกัดลำไย ซึ่งพบว่า เซลล์มะเร็งมีการตายแบบธรรมชาติ (คือการตายทีละเซลล์โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์รอบข้าง) เพิ่มมากขึ้น

              อีกทั้งทีมวิจัยยังทำการศึกษาต่อในประเด็นที่ว่า สารสกัดลำไยอบแห้งสามารถช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้หรือไม่ โดยการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวมากระตุ้นให้เกิดการอักเสบจากอนุมูลอิสระ แล้วนำสารสกัดจากเนื้อลำไยอบแห้งเข้าไปผสม ซึ่งก็พบว่า สารอนุมูลอิสระในเซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

              อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ยังคงต้องพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้แน่ชัดกว่านี้ เพื่อตอบสนองความคาดหวังว่าจะใช้สารสกัดจากลำไยอบแห้งร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด หรือนำสารสกัดจากลำไยอบแห้งไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในแง่อื่น ๆ เช่น ช่วยลดการใช้ยา หรือลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในอนาคต 

     2. ช่วยย่อยอาหาร

              ลำไยสามารถช่วยกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะอาการทำงานได้ แถมยังมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ลดแบคทีเรียไม่ดี และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ แถมยังช่วยให้เจริญอาหารขึ้นอีกด้วย

     3. บำรุงร่างกาย

              ประโยชน์เด่นอีกอย่างของลำไย คือ เป็นผลไม้ที่ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงประสาท บำรุงตา และบำรุงหัวใจ เพราะมีแร่ธาตุ วิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่มาก จึงพบได้ว่ามีคนนำลำไยไปทำเป็นยาบำรุงกำลังกันเยอะเลยค่ะ

     4. บำรุงผิวพรรณ

              เนื่องจากลำไยมีวิตามินซีและสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง แถมยังช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน จึงช่วยบำรุงผิวพรรณได้ แถมยังมีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องสำอางที่มีสารเคมีทั่วไปอีกด้วย

     5. แก้อาการเครียด

              ลำไยมีวิตามินบี 12 เยอะ ช่วยบำรุงสมอง รักษาอาการเครียด กระวนกระวาย แก้อาการอ่อนเพลีย และถ้าต้มลำไยแล้วดื่มก่อนนอนก็จะช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น

     6. รักษาอาการอัลไซเมอร์

              ในตำรายาจีนโบราณบอกเอาไว้ว่า การนำลำไยมาต้มกับโสม ให้ผู้สูงอายุหรือคนความจำไม่ดีดื่ม สามารถช่วยรักษาอาการอัลไซเมอร์และขี้หลงขี้ลืมได้ เพราะโสมจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ และกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่วนลำไยจะช่วยบำรุงสมองและทำให้ดื่มง่ายขึ้น

     7. ป้องกันโรคโลหิตจาง

              สารอาหารในลำไยสามารถช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและการดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น จึงป้องกันโรคโลหิตจางได้

     8. เติมความสดชื่นให้ร่างกาย

              เนื่องจากเป็นผลไม้รสหวานจึงมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลซูโครส กลูโคสสูง ซึ่งช่วยให้สดชื่นได้เร็ว ทำให้ลำไยเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานกับร่างกาย กินลำไยแล้วจึงรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ทันที

     9. อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย

              ที่ลำไยมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ ก็เป็นเพราะว่าลำไยเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี และสารอาหารต่าง ๆ มากมายที่มีประโยชน์ ทั้งธาตุทองแดง วิตามินบี 12 น้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโคส แคลเซียม เกลือแร่ กรดอะมิโน กรดไขมันที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย และอื่น ๆ  อีกมากมายเลยค่ะ

     10. กำจัดกลิ่นตัว

              รู้หรือไม่ว่าการนำเมล็ดลำไยกับพริกไทยมาบดเข้าด้วยกันจนเป็นผง แล้วนำไปทารักแร้ สามารถช่วยกำจัดกลิ่นตัวได้ด้วยนะคะ

     11. แก้ปวดจากข้ออักเสบ

              จากการวิจัยของ ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในเมล็ดลำไยมีสารโพลีฟีนอลซึ่งสามารถป้องกันการเสื่อมสลายและช่วยยืดอายุกระดูกอ่อนได้ยาวนานขึ้น จึงมีการนำสารสกัดจากเมล็ดลำไยมาทำยาทาช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ายาไดอะเซียรีน ซึ่งเป็นยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบัน 

              สอดคล้องกับตำราหมอยาพื้นบ้านในสมัยก่อนที่เคยนำลำไยมาใช้รักษาหัวเข่าอักเสบเช่นกัน โดยนำเมล็ดลำไยสดไปทุบให้พอแตกแล้วนำไปแช่กับเหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นนำน้ำลำไยที่ดองไว้มาทาหัวเข่าที่อักเสบทุกวัน จนอาการอักเสบดีขึ้นตามลำดับ

โทษของลำไย

             ตามหลักโภชนาการแล้ว เราควรกินผลไม้ 4-5 ส่วนต่อวัน และผลไม้ที่เรากินก็ควรมีความหลากหลาย ดังนั้นเราจึงควรกินลำไยในปริมาณที่พอเหมาะและควบคู่ไปกับผลไม้อื่นด้วย คือควรกินลำไยไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน ซึ่งหากเป็นลำไยสดก็ประมาณ 6-10 ผล แต่หากเป็นลำไยแห้ง ควรทานเพียง 2-3 เม็ด เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอและไม่มากจนเกินไป

             นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเสีย เป็นหวัด และเจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการกินลำไยด้วย เพราะถึงลำไยจะมีประโยชน์มากแค่ไหน แต่ก็จัดเป็นผลไม้รสหวานจัด เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง และจัดเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน หากกินมากไปอาจส่งผลไม่ดีต่ออาการป่วยที่เป็นอยู่ ทำให้เจ็บคอหรือเป็นร้อนในได้

 

ที่มา : https://skm.ssru.ac.th/news/view/176649 เเละ https://th.wikipedia.org